xs
xsm
sm
md
lg

“วัชระ” สวน ซิโน-ไทย เตือนสภาต่ออายุสร้างรัฐสภาอีก ถือเป็นฝ่ายผิดเสียค่าโง่ซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วัชระ เพชรทอง (แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ส.ปชป. ขยี้ต่อ โต้กลับ ซิโน-ไทย หลังเจอทำหนังสือสวนที่ยื่นค้านขอขยายก่อสร้างรัฐสภาครั้งที่ 5 เป็นการแทรกแซงกดดันจากภายนอก เตือน สภาต่ออายุให้อีก เท่ากับเป็นฝ่ายผิด ต้องเสียค่าโง่ซ้ำซาก

วันนี้ (24 ธ.ค.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ล่าสุด นายสุทธิพล พัชรนฤมล ผู้อำนวยการโครงการบริษัท ซิโน-ไทย เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 23 ธ.ค. 63 ไปยัง นายสาธิต ประเสริฐศักดิ์ ประธานกรรมการตรวจการจ้างการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพื่อตอบโต้ โดยระบุว่า นายวัชระ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาขยายเวลาการก่อสร้างของบริษัท และหนังสือร้องเรียนของนายวัชระก็ไม่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาได้ อีกทั้งข้อสรุปของนายวัชระ ก็ไม่สามารถนำมาใช้คัดค้านได้เช่นกัน เพราะเหตุแห่งการขยายเวลาไม่ได้เกิดจากความผิดของบริษัท รวมทั้งหนังสือร้องเรียนของนายวัชระ ยังมีลักษณะเชิงบังคับว่า หากมีการขยายเวลาก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การขยายเวลาเป็นการเหมารวมว่าทุจริตต่อหน้าที่ ทั้งที่ต้องพิจารณาว่ามีเหตุแห่งการขอขยายเวลาได้ตามสัญญาหรือไม่ และเป็นความผิดของผู้รับจ้างหรือไม่ จึงเห็นว่าการร้องเรียนของนายวัชระเป็นการแทรกแซงจากภายนอก เป็นเรื่องทางการเมืองกดดันคณะกรรมการตรวจการจ้าง จึงอยากให้กรรมการได้พิจารณาจากเหตุแห่งการขอขยายเวลาอย่างถูกต้องและเป็นธรรมด้วย

นายวัชระ กล่าวอีกว่า นายสาธิตได้พิจารณาวาระหนังสือคัดค้านการขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาครั้งที่ 5 ตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ส่งไปแล้ว จะไปลบทิ้งหรือลบเทปการประชุมได้อย่างไร แต่เมื่อตัวแทนบริษัท ซิโนฯ ส่งหนังสือดังกล่าวมา นายสาธิต ก็ต้องให้ความเป็นธรรมบรรจุเรื่องเป็นวาระพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ตนมีสิทธิยื่นหนังสือคัดค้านในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง พ.ศ. 2560 มาตรา 63 และมาตรา 78

นายวัชระ กล่าวด้วยว่า กรณีที่บริษัท ซิโนฯ อ้างว่า หนังสือร้องเรียนเป็นเชิงบังคับกดดันนั้น ขอชี้แจงว่า ตนเป็นแค่ประชาชนธรรมดา ไม่มีสิทธิ์ไปบังคับกรรมการตรวจการจ้างได้ หนังสือที่ส่งถึงผู้รับผิดชอบก็เพียงต้องการบอกอย่างตรงไปตรงมากับกรรมการล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าได้อนุมัติ เพราะประธานตรวจการจ้างก็ย่อมรู้กฎหมายดี เมื่อสำนักกฎหมายของสภาไม่เห็นชอบการขยายเวลา และกลุ่มบริษัท ATTA ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานไม่เห็นชอบการขยายเวลามาตั้งแต่ครั้งที่ 4 แล้ว กอปรกับมีการขยายเวลาซ้ำซากนานถึง 1,864 วัน และจะขอขยายอีกเป็นครั้งที่ 5 จำนวน 133 วัน ซ้ำยังมีคดีฟ้องสภาเรียกค่าเสียหายอีกถึง 1,600 ล้านบาท

“หากกรรมการตรวจการจ้างมีมติให้ขยาย เท่ากับสภาเป็นฝ่ายผิด ทางบริษัทก็นำไปเป็นหลักฐานในศาลปกครองได้อีก สภาก็เสียค่าโง่ซ้ำซาก หากได้ใช้หลักวิญญูชนพิจารณาง่ายๆ ก็ตัดสินใจได้แล้วว่าอะไรคือถูก อะไรคือผิด หากตัดสินใจผิดก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ตัวอย่างมีให้เห็นที่อดีตอธิบดี อดีตรัฐมนตรีติดคุก ล้วนเกิดจากความเกรงใจ หรือสมยอม หรืออาจถูกบังคับเพื่อแลกกับตำแหน่งหรือผลประโยชน์ต่างๆ ดังนั้น ข้าราชการต้องตัดสินใจให้ดี เพราะไม่มีใครมาติดคุกแทนได้” นายวัชระ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น