ศาล รธน. ตีตกคำร้องผู้ตรวจฯขอวินิจฉัย ประกาศเขตอุทยานทับลานทับที่ทำกินชาวบ้าน ละเมิดสิทธิเสรีภาพขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้ กม.เปิดช่องให้ใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมอื่นได้อยู่แล้ว
วันนี้ (25 ธ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องของตัวแทนชาวบ้าน 5 คน ใน 4 อำเภอของ จ.นครราชสีมา คือ อ.ปักธงชัย อ.วังน้ำเขียว อ.เสิงสาง อ.ครบุรี ขอให้วินิจฉัยว่าการประกาศกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2524 ทับซ้อนที่อยู่อาศัยและทำกินของประชาชนในพื้นที่รอบเขตอุทยาน โดยอาศัยเพียงแผนที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติที่กระทำโดยมิชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่มีการสำรวจแนวเขตตามความเป็นจริง และไม่มีการกันพื้นที่ชุมชนที่มีอยู่เดิมออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ มาบังคับใช้กับประชาชนที่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 25 มาตรา 27 มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 40 และมาตรา 43(2) และขัดต่อหลักนิติธรรมตามาตรา 3 วรรคสอง หรือไม่ โดยศาลเห็นว่า ผู้ร้องขอให้พิจารณาการกระทำของหน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการสำรวจแนวเขตก่อนออกประกาศกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลานว่าขัดหรือแย้ง ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกระทำของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นผู้ถูกร้องนั้น มีกฎหมายบัญญัติให้บุคคลสามารถใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรมอื่นได้อยู่แล้ว จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47(2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสามบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 213 ได้
คำร้องของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ขอให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดนำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27 พ.ย. 45 ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197 หรือไม่ และขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว เนื่องจากพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบแล้วกรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 และให้ศาลปกครองสูงสุดส่งเอกสาร รายงานการประชุมตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่พุธที่ 27 พ.ย. 45 รวมทั้งระเบียบและเอกสารที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 7 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายรัฐในสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นอ้างว่ามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้ และผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการตรวจสอบและมีมติเห็นว่า เมื่อมติที่ประชุมใหญ่ฯดังกล่าวไม่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถใช้บังคับได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 6 และ มาตรา 44 อีกทั้งมติที่ประชุมใหญ่ฯดังกล่าวยังกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” ดังนั้น จึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 ทำให้เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ซึ่งบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวสามารถใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ 60 ประกอบ มาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561