xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” ชง 4 แนว “ล็อกดาวน์-คุมโควิด” ให้สมดุล-เบรกล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เผ่าภูมิ โรจนสกุล
“ศูนย์นโยบายเพื่อไทย” เสนอ 4 แนวคิด “ล็อกดาวน์-คุมโควิด” ให้สมดุล ค้านล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เตือน รบ.ใช้ยาแรง แรงงานต่างด้าวหนีกระจัดกระจาย ย้ำต้องคุม “มาสก์” อย่าให้ขาดแคลนซ้ำรอย

วันนี้ (24 ธ.ค.) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับการล็อกดาวน์ และคุมโรคโควิด-19 ให้สมดุล ประกอบด้วย 1. หลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ การล็อกดาวน์ทั้งประเทศนั้น ต้องไม่เกิดจากการตัดสินในมิติของความรู้สึก ความกลัว และความตระหนก แต่อยากให้พิจารณาเงื่อนไขการสากลที่ใช้เพื่อตัดสินการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ นั่นคือ ล็อกดาวน์เมื่อจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าระบบสาธารณสุขรับมือไหว นำไปสู่การเสียชีวิตในอัตราเร่ง และล็อกดาวน์เมื่อระบบติดตาม สืบสวน ค้นหา นั้นได้ล้มเหลวและไม่สามารถหาทิศทางการกระจายของโรคได้อีกต่อไป

“ทั้ง 2 เงื่อนไขนี้ ปัจจุบันประเทศไทยเราไปไม่ถึง ฉะนั้น อยากให้เรียนรู้บทเรียนจากในอดีตที่ใช้การล็อกดาวน์ทั้งประเทศอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศอย่างใหญ่หลวงและเกินความจำเป็นไปมาก” นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายเผ่าภูมิ กล่าวต่อว่า 2. หากจะต้องล็อกดาวน์ การล็อกดาวน์เชิงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า โดยเน้นไปที่พื้นที่ก่อกำเนิดโรค พื้นที่การกระจายของโรค แต่ทั้งนี้ ถ้าจะล็อกดาวน์ตรงไหน ต้องใช้ความเข้มงวดแบบจริงจัง เพราะต้นทุนของการล็อกดาวน์นั้นสูง มิใช่ล็อกดาวน์ให้ประชาชนทำมาหากินไม่ได้ แต่ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มเสี่ยงไปมาได้อย่างเสรี

3. การตรวจโรคเชิงรุกกับกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดครั้งนี้ ต้องคิดแยกกันระหว่างปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการต้องค้นหาโรคเร่งด่วน กับปัญหาระยะยาวเรื่องการลักลอบของแรงงานผิดกฎหมาย หากนำสองเรื่องนี้มารวมกันแล้วใช้แนวทางด้านกฎหมายรุนแรงจัดการอย่างเดียวแล้ว ผลคือ แรงงานต่างด้าวจะหลบหนี กบดาน และกระจายตัวไปทั่วประเทศ เพื่อหลบเลี่ยงความผิดด้านกฎหมาย ทั้งนี้ ควรแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน โดยการตรวจโรคแรงงานต่างด้าวกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด โดยการตรวจแบบไม่ระบุตัวตน โดยยึดหลักมนุษยชน หลีกเลี่ยงการขู่จับกุมในช่วงนี้ เพราะจะยิ่งสร้างปัญหาการกระจัดกระจายของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

และ 4. ประชาชนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ในรอบนี้เกิดจากผู้มีรายได้น้อย ผู้ใช้แรงงานต่างด้าว พ่อค้าแม่ค้าในตลาด รัฐบาลต้องเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต ซึ่งการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงแรก มีผลอย่างมีนัยสำคัญของการระบาดของโรค รัฐบาลต้องเร่งจัดหาและกระจายหน้ากากอนามัยให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หากจัดหาหน้ากากอนามัยให้ประชาชนอย่างพอเพียงแล้ว แนวคิดการบังคับการสวมหน้ากากอนามัยก็สมควรนำมาพิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น