รมช.แรงงาน เยือนขอนแก่น ดันอาสาสมัครแรงงานร่วมสร้างแรงงานคุณภาพ บูรณาการ 7 เสือแรงงาน ขับเคลื่อนด้านแรงงานตามแนวคิด “สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ” ยกระดับเศรษฐกิจไทย
วันที่ 21 ธันวาคม 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ติดตามผลการขับเคลื่อนด้านแรงงานที่จังหวัดขอนแก่น พบปะพูดคุยกับอาสาสมัครแรงงาน ที่เข้าร่วมสัมมนาโครงการอาสาสมัครแรงงานต้านภัยยาเสพติด ณ โรงแรมเจริญธานีขอนแก่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดขอนแก่น ให้การต้อนรับ
โดยศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวกับอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ตอนหนึ่งว่า “อาสาสมัครแรงงาน เป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญ เพราะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานงานระหว่างกระทรวงแรงงานกับประชาชนในพื้นที่ เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งได้รับความไววางใจจากชุมชน ดังนั้น ประชาชนหรือแรงงานจะรับทราบข้อมูลข่าวสาร ภารกิจหรือบริการของรัฐ ต้องอาศัยอาสาสมัครแรงงาน เป็นผู้แจ้งข่าวสารนั้นด้วย นอกจากนี้ ยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังปัญหาความเดือดร้อนด้านแรงงานในพื้นที่ แล้วแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับทราบปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป จึงเห็นได้ว่า อสร. ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทั้งฝ่ายภาครัฐและประชาชน ในวันนี้ กระทรวงแรงงาน ได้จัดสัมมนาขึ้น เพื่อให้ อสร. ร่วมเป็นเครือข่ายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งในชุมชนและสถานประกอบกิจการ”
อีกประเด็นที่ต้องการให้ อสร.ช่วยดำเนินการคือ ประชาสัมพันธ์การพัฒนาทักษะฝีมือ ซึ่งมีหน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตั้งอยู่ทุกจังหวัด สามารถให้บริการและช่วยเหลือแรงงานที่ต้องการมีความรู้ ไปประกอบอาชีพ โดยเฉพาะผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขอให้ อสร.สำรวจและคัดเลือกแรงงานที่ต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง เพื่อช่วยให้แรงงานเหล่านี้ เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพ มีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัวต่อไป “ขอขอบคุณ อสร.ทุกคนและเป็นกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่” รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด
หลังจากนั้น รมช.แรงงานและคณะ เดินทางไปยังศูนย์ฟื้นฟูสรรถภาพคนงานภาค 4 จังหวัดขอนแก่น และรับฟังผลการดำเนินงาน พบว่า เป็นศูนย์ที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือในด้านการบำบัดและฟื้นฟูทางการแพทย์ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการฟื้นฟูจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้ง มีการฝึกอาชีพอิสระเพื่อให้สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติหรือประกอบอาชีพอื่นได้ ที่ผ่านมาผู้เข้ารับการฟื้นฟูจะเป็นลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะเนื่องมาจากการทำงาน แต่ในอนาคตจะผลักดันให้กลุ่มผู้พิการที่ไม่ใช่ลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุ มีโอกาสเข้ารับการฟื้นฟูในศูนย์ดังกล่าวด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างทั่วถึงต่อไป
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้สถานประกอบกิจการหลายแห่ง มีการตรวจคัดกรองลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าวเข้มงวดมากยิ่งขึ้น การลงพื้นที่ในครั้งนี้ รมช.แรงงาน จึงนำทีมงาน ตรวจเยี่ยมการคัดกรอง บริษัท โรงงานทออวนเดชาพานิช จำกัด ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 1,172 คน โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด เสร็จแล้วเดินทางต่อไปยังสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น ตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมเตรียมเข้าทำงาน ได้แก่ การประกอบอาหารไทย ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ และช่างซ่อมรถยนต์ ทั้ง 3 หลักสูตรมีระยะเวลาการฝึก 2 เดือน ฝากฝึกในสถานประกอบกิจการอีก 1 เดือน พร้อมรับฟังผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนด้านแรงงาน
รมช.แรงงาน ได้เน้นย้ำว่า ให้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง แต่ละหน่วยมีภารกิจเกี่ยวข้องกัน พัฒนาฝีมือแรงงานแล้วต้องประสานจัดหางานและศูนย์บริหารข้อมูลตลาดแรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดูตำแหน่งงาน เพื่อหางานให้ผู้การอบรมมีช่องทางในการประกอบอาชีพ ส่วนด้านของประกันสังคม สนง.สวัสดิการและศูนย์ฟื้นฟูก็เช่นกัน ขอให้บริการแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะภาครัฐคือที่พึ่งของประชาชน โดยมีแรงงานจังหวัดเป็นศูนย์กลางและเป็นพี่เลี้ยง นอกจากนี้แล้ว ยังต้องแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นและภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานของกระทรวงแรงงานให้มากขึ้นด้วย ทำงานตามแนวนโยบายของรัฐบาลในรูปแบบประชารัฐ