xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.ทบ.รับอุดชายแดน 5 พันกิโลไม่อยู่ ยันเต็มที่แล้ว พร้อมส่ง 2 กองร้อยพิทักษ์สมุทรสาคร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก (แฟ้มภาพ)
ศบค.ทบ. ยอมรับซีลชายแดนยาวกว่า 5 พันกิโล ไม่อยู่ ต่างด้าวเล็ดรอดเส้นทางธรรมชาติได้ ลั่น 7 กกล.ทำเต็มที่แล้ว ชี้ “ตาก-เชียงราย-กาญจน์” ลอบเข้าเยอะสุด พร้อมส่ง 2 กองร้อยพิทักษ์สมุทรสาคร

วันนี้ (21 ธ.ค.) เวลา 15.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 ของกองทัพบก (ศบค.ทบ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ จ.สมุทรสาคร ทาง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มีข้อสั่งการไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการเพิ่มมาตรการป้องกันชายแดนอย่างเต็มที่ ทั้งทหารหลัก ทหารพราน และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) แต่ต้องยอมรับว่า พื้นที่ชายแดนมีความยาวถึง 5,526 กม. ในขณะที่กองทัพบกมี 7 กองกำลังป้องกันชายแดน ประกอบด้วย กองทัพภาคที่ 1 มี กกล.บูรพา และ กกล.สุรสีห์ กองทัพภาคที่ 2 มี กกล.สุรนารี และ กกล.สุรศักดิ์มนตรี กองทัพภาคที่ 3 มี กกล.นเรศวร และ กกล.ผาเมือง กองทัพภาคที่ 4 มี กกล.เทพสตรี นอกจากนี้ ยังมีกำลังกองทัพเรือ คือ ศร.ชล. ที่ผ่านมา ผบ.ทบ.ได้สั่งเพิ่มเติมกำลังไปแล้ว 5 กองร้อย รวมถึงเพิ่มมาตรการในการปฏิบัติ เช่น เพิ่มจุดเฝ้าระวังในพื้นที่ที่เป็นช่องทางธรรมชาติและเดินข้ามได้สะดวกด้วยการวางเครื่องกีดขวาง อาทิ ลวดหนามหีบเพลง ไม้กั้น รวมถึงเพิ่มกำลังลาดตระเวน อาทิ การเดินเท้า การใช้รถจักรยานยนต์ การใช้รถยนต์ และเรือ การใช้โดรนบินลาดตระเวน พร้อมตรวจจุดพักพิงตามแนวชายแดนให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ผบ.ทบ.ได้กำชับกำลังพลทั้ง 7 กองกำลังให้ปฏิบัติงานโดยมีมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด

พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังใช้กลไกประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านคณะกรรมการชายแดนท้องถิ่น โดยได้ประสานกับประเทศเมียนมา เพื่อรับคนไทยที่เดินทางไปทำงานกลับเข้ามา เบื้องต้นมีคนไทยประสานมา 278 คน เดินทางกลับมาแล้ว 201 คน และอยู่ระหว่างการกักตัว 14 วัน มีผู้ตกค้าง 77 คน ส่วนผลการจับกุมผู้ลักลอบเข้าประเทศมี 138 ครั้ง จำนวน 279 คน พบมากสุดที่ จ.ตาก เชียงราย และ กาญจนบุรี โดยผู้ที่เป็นแรงงานต่างด้าวได้มีการผลักดันออกนอกประเทศเรียบร้อยแล้ว รวมถึงยังมีชุดกิจการพลเรือนกองทัพบก 374 ชุด ลงพื้นที่ประสานงานกับอาสาสมัครกรมกิจการพลเรือนกองทัพบกที่มีเครือข่ายภาคประชาชน 11,730 คน เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศในการสร้างความรู้ป้องกันโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม สำหรับการดูแลพื้นที่ จ.สมุทรสาครนั้น กองทัพบกได้จัดกำลังพล 2 กองร้อยจากกรมทหารสื่อสารที่ 1 จ.สมุทรสาคร ร่วมตั้งจุดตรวจและจุดสกัดกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลพื้นที่จ.สมุทรสาคร

เมื่อถามว่า แรงงานต่างด้าวที่ตลาดกุ้งใน จ.สมุทรสาคร ลักลอบเข้าประเทศไทยมาจากพื้นที่ใด พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวว่า ทหารปฏิบัติงานร่วมกับหลายฝ่าย หน้าที่โดยตรง คือ การป้องกันชายแดน รวมทั้งดูแลงานด้านการข่าว ยืนยันว่า กองทัพบกทำงานเต็มที่ ทั้งนี้ การนำเชื้อเข้ามาได้ 3 ทาง คือ ทางอากาศ พื้นดิน และทางน้ำ ซึ่งทั้ง 7 กองกำลังได้ทำงานเต็มที่แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่า พื้นที่ชายแดน 5,526 กม.ยาวและไกลมาก เชื่อว่า มีหลุดรอดได้ เพราะชายแดนบางพื้นที่สามารถเดินผ่านเข้าออกได้ตลอด ในส่วนของลำน้ำก็โดยสารทางเรือหรือสามารถลอยคอเข้ามาได้ ถือเป็นเรื่องที่หนักใจของกองกำลังป้องกันชายแดนว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเดินตรวจตราได้ตลอดเวลา

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นเพราะมีเจ้าหน้าที่รับสินบนนำเข้าแรงงานต่างด้าว พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวว่า ผบ.ทบ.ได้ยืนยันแล้วว่า ไม่มี เมื่อถามว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าวทะลุแผนกำแพง 3 ชั้นในการสกัดโควิด-19 กองทัพบกแล้ว จะมีการปรับแผนงานอย่างไร พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวว่า ทุกส่วนปฏิบัติงานเต็มที่ ส่วนผู้ที่มีหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ คือ ผู้ว่าฯ ที่ต้องประสานทหาร ตำรวจ และกองกำลังในพื้นที่เพื่อสร้างความร่วมมือร่วมกัน เมื่อถามอีกว่า กองทัพบกได้ทุ่มสรรพกำลังเต็มที่ เพื่อป้องกันแนวชายแดนแต่เอาไม่อยู่ใช่หรือไม่ ยืนยันว่า กองทัพบกใช้กำลังเต็มที่

เมื่อถามว่า แรงงานต่างด้าวที่ จ.สมุทรสาคร เป็นการทยอยลักลอบเดินทางเข้ามาหรือไม่ พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวว่า จากสถิติไทยมีแรงงานต่างด้าว 2.4 ล้านคน ซึ่งเข้ามาแบบถูกต้อง โดย จ.สมุทรสาคร ถือเป็นแหล่งที่มีชาวเมียนมาเข้ามาประกอบอาชีพเป็นจำนวนมากเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย เมื่อถามว่า หากเป็นแรงงานถูกกฎหมายแล้วเชื้อเข้ามาได้อย่างไร พล.ท.สันติพงศ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของ ศบค.และเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนสอบสวน ส่วนจะมีผู้ลักลอบแฝงเข้ามาด้วยหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นในการตรวจสอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น