วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.และประธานคณะกรรมาการต่างประเทศ วุฒิสภา แถลงถึงกรณีที่นางแทมมี่ ดักเวริร์ธ ส.ว.สหรัฐอเมริกาเชื้อสายไทย ได้ร่วมกับ ส.ว.สหรัฐฯ เสนอให้วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติสนับสนุนการใช้สิทธิการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยว่า การประชุมร่วมกันของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บรโภค ได้มีความเห็นร่วมกันต่อกรณีที่ ส.ว.ของสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและส่งเสริมการปกครองและการให้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ดังนี้
1. ประเทศไทยยังคงยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงการคำนึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แม้ในบางช่วงเวลาจะมีสถานการณ์ที่ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต้องสะดุดลงบ้าง แต่ก็เพื่อให้การปกครองของประเทศมีความเข้มแข็งในอนาคต
2. แม้ความเป็นประชาธิปไตยจะสะดุดลงบ้างในปี 2557 แต่เป็นไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศที่มีสาเหตุมาจากการทุจริตในระบบการเมืองอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดวิกฤตในประเทศไทย
3. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกนั้นเมื่อพิจารณาถ่องแท้แล้วจะพบว่ายังคงหลักการสำคัญที่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนทั้งสิ้น โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
4. หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและจัดให้มีการเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่าฝ่ายที่ไม่ได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้พยายามกล่าวหาว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้ง รวมไปถึงข้อกล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่การยุยงปลุกปั่นให้คนกลุ่มต่างๆ ออกมาชุมนุมประท้วง แม้รัฐธรรมนูญจะให้เสรีภาพในการชุมนุมแต่การกระทำของคนเหล่านั้นกลับเป็นการชุมนุมที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นอกจากนั้น การชุมนุมประท้วงของบางกลุ่มยังแฝงไปด้วยเจตนาร้ายและก้าวล่วงไปถึงสถาบันหลักของประเทศด้วย
5. หาก ส.ว.สหรัฐฯ ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของประเทศไทย สามารถสอบถามเพื่อรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องได้ที่สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ของไทยในสหรัฐฯ ได้อีกทางหนึ่ง
“คณะกรรมาธิการทั้งสามคณะมีความห่วงกังวลต่อกรณีนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากข้อเรียกร้องต่างๆ อาจถูกนำไปตีความที่คลาดเคลื่อน และตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก ซึ่งอาจนำไปสู่ความแตกแยกมากยิ่งขึ้นในสังคมไทย และส่งผลต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีมาเกือบ 200 ปี จึงเป็นที่มาของการแถลงข่าวร่วมกันในครั้งนี้” นางพิกุลแก้วกล่าว
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า ในมุมมองคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ เราให้ความสำคัญต่อ ส.ว.สหรัฐอเมริกา แต่นั่นเป็นการเสนอความคิดเห็นด้านเดียว ดังนั้น ต้องเข้าใจและตระหนักถึงการบริหารประเทศของไทย แต่ละประเทศย่อมมีปัญหาแตกต่างกัน โดยสหรัฐฯ ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ต่างกัน ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องไม่ก้าวก่ายการบริหารภายในประเทศกันและกัน
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ทั้งสามคณะกรรมาธิการฯมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ และเห็นว่า ส.ว.สหรัฐฯ อาจได้รับข้อมูลด้านเดียวที่ไม่ครอบคลุมถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ยืนยันว่าการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเจ้าหน้าที่ยังยึดตามหลักสากลโดยไม่มีความรุนแรงที่เกินกว่ากฎหมายควบคุมไว้ หวังว่า ส.ว.สหรัฐฯ จะชะลอการเสนอญัตติเอาไว้ พร้อมกับสอบถามข้อมูลจากวุฒิสภาไทยก่อนได้ตลอดเวลา