xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ชำแหละ “เน็ตชายขอบ” 1.3 หมื่นล้าน 3,920 หมู่บ้าน งง! ติดตั้งในพุ่มต้นกล้วย แถมซ้ำซ้อนหมู่บ้าน-ประชาชนใช้บริการเอกชนอยู่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง.ชำแหละอภิมหาโครงการ “อินเทอร์เน็ตชายขอบ” งบฯ 1.3 หมื่นล้าน แผนพัฒนาดิจิทัลชาติ 20 ปี ตามเป้าหมายคนไทย 98% ใน 3,920 หมู่บ้าน เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วไม่ตํ่ากว่า 30/10 เมกะบิตต่อวินาที พบปัญหาผู้ให้บริการติดตั้งระบบอุปกรณ์ ยังไม่ครบถ้วนตามกำหนด 1 ปี เหตุมีการปรับลดจุดให้บริการเพียบ แถมปัญหาการติดตั้ง ทั้งในจุดอับสัญญาณ งง!ติดตั้งในพุ่มต้นกล้วย ติดข้างศาลารกร้าง แถมซ้ำซ้อนหลังพบหมู่บ้าน-ประชาชนส่วนใหญ่มีบริการอินเทอร์เน็ตของเอกชน ใช้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นประจำอยู่แล้ว

วันนี้ (4 ธ.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.ได้สรุปผลการการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน “โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ” วงเงินรวม13,181.84 ล้านบาท

ตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2580) ของรัฐบาล โดยมีสำนักงาน กสทช.ร่วมพิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายการดำเนินการกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยมีเป้าหมายประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 ของทั้งประเทศ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน สามารถเข้าถึงสัญญาณ โทรศัพท์เคลื่อนที่ มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่มีความเร็วไม่ตํ่ากว่า 30/10 เมกะบิตต่อวินาที (Megabit per second : Mbps.) ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2561 เป็นการดำเนินงานภายใต้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และเงินสนับสนุนจาก “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2566 และจัดหาผู้ให้บริการ ได้แก่

บริษัท ทรูอินเทอร์เน็ตคอร์ปอเรซั่น จำกัด (TRUE) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (INTERLINK) บริษัท ทรูมูพิ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TrueMove FI) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT)

สตง.ได้ตรวจสอบโครงการฯ 3,920 หมู่บ้าน ทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ การวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การติดตั้งอุปกรณ์ Wi-Fi ภายในหมู่บ้าน โรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และอาคาร uso Net ภายในโรงเรียน

โดยสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง และสุ่มพื้นที่เป้าหมาย 47 หมู่บ้าน จาก 15 อำเภอ ในพื้นที่ 12 จังหวัด พบว่า โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 14 จุดติดตั้ง บริการสัญญาณ Wi-Fi 61 จุดติดตั้ง และอาคารศูนย์ USO Net 10 จุดติดตั้ง โดยตรวจรับงานหรือส่งมอบงานแล้ว 124 จุดติดตั้ง และยังไม่ส่งมอบงานจากผู้ให้บริการ 26 จุดติดตั้ง เนื่องจากการดำเนินการให้บริการมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด

โดยเฉพาะไม่สามารถดำเนินการติดตั้งระบบอุปกรณ์การให้บริการฯ ให้แล้วเสร็จอย่างครบถ้วนและพร้อมให้บริการภายในกำหนดวันที่ 28 กันยายน 2561 และล่วงเวลากำหนดการให้บริการตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ไม่สามารถควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการ ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน

การให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบ 1,890 หมู่บ้าน มีจุดให้บริการ 4,916 จุดติดตั้ง ส่งมอบการติดตั้งระบบอุปกรณ์การให้บริการแล้ว 4,379 จุดติดตั้ง และการติดตั้งระบบอุปกรณ์ยังไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด 537 จุดติดตั้ง คิดเป็นร้อยละ 10.92 ของจุดให้บริการทั้งหมด

ขณะที่การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ตามเป้า 3,912 หมู่บ้าน มีการปรับลดจุดให้บริการจากที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง 15 จุดติดตั้ง คงเหลือ จุดให้บริการรวมทั้งสิ้น 6,110 จุดติดตั้ง ส่งมอบการติดตั้งระบบอุปกรณ์การให้บริการแล้ว 4,674 จุดติดตั้งและการติดตั้งระบบอุปกรณ์ยังไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด 1,436จุดติดตั้ง คิดเป็นร้อยละ 23.50 ของจุดให้บริการทั้งหมด

จากการตรวจสอบสังเกตการณ์การก่อสร้าง ศูนย์ USO Net ในพื้นที่ดำเนินการที่สุ่มตรวจสอบ 10 แห่ง พบว่า การก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จ จำนวน 6 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 60 ของศูนย์ USO Net ที่สุ่มสังเกตการณ์

สตง.มีข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสั่งการให้ปรับปรุงการระบุจุดติดตั้ง การให้บริการที่ได้สำรวจพื้นที่ก่อนการดำเนิน โดยการสำรวจข้อมูลต้องแสดงรายละเอียดจุดติดตั้งที่ชัดเจน ระบุได้ และถูกต้องตรงตามข้อมูลการสำรวจ

และเร่งดำเนินการขออนุมัติ/อนุญาตการใช้พื้นที่ทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเร็ว รวมถึงให้ทบทวนการจัดวางระบบกระบวนการ/ขั้นตอนการตรวจรับงาน ลดปัญหาข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานตามขั้นตอน ซึ่งควรมีลำดับกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ข้อสุ่มตรวจต่อมา สตง.พบว่า สภาพอุปกรณ์และจุดติดตั้งระบบการให้บริการ ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นหรือความต้องการของพื้นที่ดำเนินการ และจุดติดตั้งอุปกรณ์การให้บริการไม่เอื้อต่อการใช้งาน หรือเป็นบริเวณที่ไม่สะดวกหรือไม่มีความปลอดภัย ในการใช้งาน เกิดความซํ้าซ้อนกับการสนับสนุนในโครงการอื่นหรือหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการอยู่แล้ว และไม่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

การให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีระดับความแรงของสัญญาณ (Signal Strength) ที่เครื่องรับไม่น้อยกว่า -77.5 dBm ในรัศมีไม่น้อยกว่า 100 เมตร จากจุดติดตั้งอุปกรณ์ เชื่อมโยงการบริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยโครงข่ายของผู้ให้บริการที่ได้รับการอนุญาตประกอบ กิจการโทรคมนาคมแต่ละสัญญา

พบว่า การให้บริการไม่สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นภายในหมู่บ้าน 45 จุดติดตั้ง ใน 22 หมู่บ้าน ร้อยละ 84.62 ของจำนวนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ โดยพบว่าภายในบริเวณหมู่บ้านมีบริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายเครือข่ายอยู่ก่อนแล้ว และผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่

ขณะที่จุดติดตั้งอุปกรณ์การให้บริการไม่เอื้อต่อการใช้งานหรือเป็นบริเวณที่ไม่สะดวกหรือไม่มีความปลอดภัยในการใช้งานบริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 14 จุดติดตั้ง ใน 10 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 38.46 ของจำนวนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ

โดยติดตั้งในบริเวณริมถนนที่มีขอบทางแคบ เสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์ ติดตั้งภายในบริเวณที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ติดตั้งหลังพุ่มไม้ หรือในพุ่มต้นกล้วย ติดตั้งบริเวณริมทางไม่สามารถสังเกตได้และเป็นที่เปลี่ยวไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างและไม่มีบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียง

การติดตั้งระบบอุปกรณ์ไม่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 22 จุดติดตั้ง ใน 13 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 50 ของจำนวนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ โดยติดตั้งอุปกรณ์บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่บริเวณริมถนนที่ไม่มีบ้านเรือนตั้งอาศัยหรือมีบริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โล่งแจ้ง และติดตั้งอุปกรณ์ในบริเวณที่ท์าการผู้!หญ่บ้านหรือกำนันซึ่งไม่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และสามารถใช้บริการได้หลายเครือข่าย

ระบบอุปกรณ์มีระยะการใช้บริการที่มีประสิทธิภาพที่จำกัด จากข้อมูลการทดสอบคุณภาพของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระยะห่างจากจุดติดตั้งประมาณ 200 เมตร ในระบบอุปกรณ์ การให้บริการจำนวน 38 จุดติดตั้ง ใน 17 หมู่บ้าน

พบว่า ส่วนใหญ่ความแรงของสัญญาณลดลงจาก เดิมในระดับที่น้อยกว่า -77.5 เป็นระดับตั้งแต่ -93.0 จนถึง -99.0 โดยจากการทดสอบการใช้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อลื่อสารมีปัญหาการเชื่อมต่อสัญญาณ เสียงไม่ซัดเจน หรือเสียงขาดๆ หายๆ เป็นต้น แต่สามารถใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการลื่อสารได้

ส่วนการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ด้วยการจัดบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วในการดาวน์โหลด/อัปโหลด ที่ 30/10 Mbps. กรณีใช้โครงข่ายสัญญาณสายใยแก้วนำแสง และ 30/5 Mbps. กรณีใช้สัญญาณดาวเทียม มีรูปแบบการให้บริการจำแนกเป็น 4 ประเภทบริการ ได้แก่

บริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (OLT) บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ Wi-Fi หมู่บ้าน บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับหน่วยงานของรัฐในรูปแบบ Wi-Fi โรงเรียนและ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และบริการศูนย์อินเทอร์เน็ต (uso Net) ภายในโรงเรียน

“จากการตรวจสอบพบว่า การให้บริการไม่สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นภายในหมู่บ้าน 35 จุดติดตั้ง ใน 31 หมู่บ้าน ร้อยละ 65.96 ของจำนวนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ โดยหมู่บ้านส่วนใหญ่มีบริการอินเทอร์เน็ตของเอกชนเข้าถึงในพื้นที่ และประชาชนส่วนใหญ่มีการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นประจำอยู่แล้ว”

ประเด็นจุดติดตั้งอุปกรณ์การให้บริการ พบว่า ไม่เอื้อต่อการใช้งานหรือเป็นบริเวณที่ไม่สะดวก หรือไม่มีความปลอดภัยในการใช้งานบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 13 จุด ติดตั้ง ใน 13 หมู่บ้าน ร้อยละ 27.66 ของจำนวนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ

โดยติดตั้งในบริเวณ “ริมถนนที่มีขอบทางแคบ หรือเป็นทางโค้งเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์ ติดตั้งภายในบริเวณที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล หรือในบริเวณที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน ติดตั้งบริเวณริมทางไม่สามารถสังเกตได้หรือเป็นที่โล่งแจ้ง โดยไม่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และติดตั้งบริเวณข้างศาลาอ่านหนังสือ มีสภาพรกร้าง ภายในศาลาไม่มีไฟฟ้าและมีขยะทิ้งเกลื่อน โดยรอบมีต้นไม้ปกคลุมมีสภาพเป็นที่เปลี่ยวและไม่มีบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียง”

ขณะที่ความซํ้าซ้อนกับการสนับสนุนของโครงการอื่นหรือหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการอยู่แล้ว 17 จุดติดตั้ง ใน 17 หมู่บ้าน ร้อยละ 36.17 ของจำนวนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า โรงเรียนทุกแห่งได้รับงบประมาณสนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ตพร้อมจัดเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน และฝึกศึกษาให้กับนักเรียนภายในโรงเรียนอยู่แล้ว และที่ผ่านมาบางโรงเรียนเคยได้รับการสนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ตพร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ในโครงการ uso Net ของสำนักงาน กสทช.

การติดตั้งระบบอุปกรณ์ไม่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ 8 จุดติดตั้ง ใน 8 หมู่บ้าน ร้อยละ 17.02 ของจำนวนหมู่บ้านที่สุ่มตรวจสอบ โดยการติดตั้งอุปกรณ์ไม่พิจารณาถึงรูปแบบการสนับสนุนที่ต้องการใช้งานร่วมกันหรือคำนึงถึงลักษณะรูปแบบวิธีการใช้งาน การสนับสนุน อุปกรณ์ขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และไม่พิจารณาถึงความต้องการที่แท้จริงหรือการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานและชุมชน

ระบบอุปกรณ์มีระยะการใช้บริการและปริมาณหรือจำนวนผู้เข้าใช้บริการที่จำกัด โดยจากการทดสอบความแรงของสัญญาณอินเทอร์เน็ต พบว่า ระดับความเร็วของสัญญาณไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 20 จุดติดตั้ง

รวมทั้งจากการทดสอบความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตในการ ดาวน์โหลด/อัปโหลดตามเกณฑ์ที่กำหนด ณ จุดติดตั้งอุปกรณ์และในระยะห่างจากจุดติดตั้งอุปกรณ์ ประมาณ 100 เมตร พบว่าระดับความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะมีคุณภาพลดลงตามระยะห่างจากจุดติดตั้งอุปกรณ์และตามปริมาณหรือจำนวนการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สตง.มีหนังสือข้อเสนอแนะต้อ สำนักงาน กสทช. ดีอีเอส และเอกชนผู้ให้บริการ เร่งดำเนินการการปรับปรุงโดยเร็วแล้ว รวมถึงกระบวนการติดตามประเมินผลและการรายงานผลการดำเนินโครงการให้มีความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น