xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนบวกสามผนึกกำลังเพิ่มประสิทธิภาพความช่วยเหลือทางการเงิน เสริมสภาพคล่องหากขาดดุลการชำระเงิน ผ่านกลไกการริเริ่มเชียงใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วันนี้ (2 ธ.ค.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ เป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค (Regional Financing Arrangement) ในการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน หรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และเมื่อครั้งการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนบวกสาม (AFMGM+3) ครั้งที่ 23 ได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) Agreement) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้แต่ละประเทศสมาชิกดำเนินการภายในเพื่อลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว

ที่ประชุม ครม.เมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.) มีมติเห็นชอบร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (CMIM Agreement) ฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก ซึ่งจะทำให้สมาชิกได้รับเงินความช่วยเหลือเบื้องต้นได้เพิ่มขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยมีสาระสำคัญ คือ

1) เพิ่มสัดส่วนให้ความช่วยเหลือกรณีที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินขอรับความช่วยเหลือสูงสุด
2) ยินยอมให้สามารถเลือกสมทบหรือขอรับความช่วยเหลือภายใต้กลไก CMIM เป็นสกุลเงินท้องถิ่นตามหลักความสมัครใจ ภายใต้วงเงินรวมคงเดิมจำนวน 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
3) เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากจะยกเลิกการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกรุงลอนดอน (London Interbank Offered Rate : LIBOR) ในสิ้นปี 2564 และแก้ไขประเด็นเชิงเทคนิคเพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ภายใต้กลไก CMIM มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ ครม.ได้อนุมัติการลงนามในร่างความตกลง CMIM ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทน ลงนามในหนังสือรับทราบการขอรับความช่วยเหลือและหนังสือยืนยันการปฏิบัติตามเงื่อนไขของความตกลง และให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ลงนามยืนยันการสมทบเงินในวงเงิน 9,104 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้กันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้แล้วเพื่อสมทบตามกลไก CMIM ทั้งนี้ ร่างความตกลงดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของวงเงินความช่วยเหลือรวม จำนวน 2.4แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น