ฝ่ายค้านเขย่าประชามติเปิดช่องให้ กก.เผยแพร่เนื้อหาร่าง รธน.ได้ แต่ปิดปาก ปชช.แสดงความเห็นไม่ได้ เตือนอย่างุบงิบทำเหมือนปี 60 “จิรายุ” ห่วงสอดไส้ซ่อนกลคำถามพ่วง ด้าน ส.ส.ก้าวไกลอัดล้าหลังไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย
วันนี้ (1 ธ.ค.) ได้มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ วาระ 1 ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า เป็นกฎหมายที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดทำขึ้น และเสนอมายัง ครม. มีทำการเปิดรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญอยู่หลายขั้นตอน และเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ สมควรมีกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เดิมทีมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2552 อยู่แล้ว แต่ขณะนี้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงไป หลักเกณฑ์เงื่อนไขจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงต้องจัดทำกฎหมายขึ้นใหม่ โดยไม่ถือให้เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายแสดงความเห็น โดยเฉพาะฝ่ายค้านได้แสดงความเป็นห่วงการรณรงค์แสดงความเห็นจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติที่อาจไม่เป็นกลาง เปิดพื้นที่ให้เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมถึงเกรงว่า อาจไม่มีการเผยแพร่เนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง
นายนิยม เวชกามา ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า ตนไม่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และยังสนับสนุนเห็นด้วย เพราะเป็นการคืนอำนาจและความหวังไปให้ประชาชน แต่เมื่อเปิดดูเนื้อหาแล้วรู้สึกเป็นห่วง เพราะเสนอเข้ามาคล้ายใช้กฎหมายปิดปาก จริงๆ กฎหมายนี้สภาก็เสนอได้ซึ่งพรรคฝ่ายค้านก็เสนอเข้ามาแต่คงไม่มีโอกาสเพราะเสนอเข้ามาในรัฐสภา โดยรัฐบาลอ้างว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป ทั้งที่ไม่เคยกล่าวไว้ว่ากฎหมายนี้ถือเป็นกฎหมายปฏิรูป
ที่ผ่านมาร่างรัฐธรรมนูญปี 60 มีการใช้กฎหมายประชามติให้ประชาชนแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และมีการถรามพ่วง แต่ไม่ได้ให้อิสระเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างแท้จริง บีบให้ลงประชามติรับเพื่อจะได้ประกาศใช้ให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ ตนจึงห่วงว่าหากกฎหมายนี้ออกมาแล้วเป็นเหมือนคราวที่ผ่านมา ตนก็ห่วงว่าอย่าให้เป็นแบบนั้น ที่กำหนดว่าใครก็ตามที่มีความเห็นต่างว่าจะไม่รับจะมีความผิด แต่ในร่างนี้ก็เขียนไว้ไม่ชัดเจน ในหลักการเหตุผลที่บอกว่าจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในเมื่อเราจะให้ประชาชนมีความเห็นได้ก็ต้องให้มีเสรีภาพในการแสดงว่ารับ-ไม่รับได้ ในมาตรา 14 มีอยู่สามวรรคในการทำประชามติให้คณะกรรมการเผยแพร่เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญโดยสรุปให้ประชาชนทราบ
“ผมห่วงว่าจะให้แต่คณะกรรมการฯ เผยแพร่ได้ เพราะไม่มีข้อไหนระบุว่าประชาชนแสดงความเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ทำได้หรือไม่ อย่าให้มีการงุบงิบรับมา เพราะการแก้รัฐธรรมนูญบางทีไม่สมบูรณ์เขาก็มีสิทธิ์ไม่รับในบางส่วน ควรให้มีการเปิดเวทีแสดงความเห็นได้ กลัวว่าประชาชนจะติดคุกในการแสดงความเห็น เพราะที่ผ่านมาหลายคนติดคุกเนื่องจากไม่รับ ไม่อยากให้เห็นในกฎหมายฉบับนี้ จึงอยากเห็นว่าถ้าให้ประชาชนทำประชามติแล้วก็ควรแสดงความคิดเห็นได้”
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีปัญหามาก เพราะไม่มีความเห็นจากประชาชนตอบกลับมาเลย รับฟังความเห็นกันอย่างไร อีกทั้งเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.นี้ จำกัดให้เฉพาะ ครม.เท่านั้น เป็นผู้ริเริ่มการทำประชามติได้ แต่ไม่มีเป้าหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นประชามติแบบแคบ จึงควรแก้ไขในชั้น กมธ.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมริเริ่มทำประชามติได้
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญปี 2560 ดีจริง การบริหารราชการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม คงไม่ตกที่นั่งลำบาก หวังว่าร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้จะไม่สอดไส้ แยบยล ซ่อนกลเหมือนการทำประชามติเดือน ส.ค.ปี 2559 ที่มีคำถามพ่วงให้ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีภายในเวลา 5 ปี อย่ายัดไส้คำถามพ่วงเข้ามาในประชามติ รวมถึงเรื่องการรณรงค์ประชามติจะต้องทำได้ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขใหม่ ไม่ใช่ให้ทำได้เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้น่าผิดหวัง ล้าหลัง ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย ส่วนใหญ่เอาของเดิมที่มีปัญหามาย้อมแมวหลอกประชาชน ดังนั้นใครจะมั่นใจว่า การทำประชามติจะไม่ซ้ำรอยเกิดความวุ่นวายเหมือนที่ผ่านมา การทำประชามติ รัฐต้องไม่ทำตัวเป็นผู้เล่น แต่ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นได้อย่างอิสระ เพื่อไปสู่การทำประชามติที่แท้จริง ไม่ใช่ไปชี้นำ และที่น่าสงสัยคือ เหตุใดร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฉบับนี้ จึงเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ เป็นเพราะรัฐบาลกลัวกฎหมายจะไม่ผ่านหรือไม่ จึงต้องนำ ส.ว.มาเป็นส่วนร่วม แสดงว่าไม่ไว้วางใจ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนประชาชนหรือไม่