“สุดารัตน์” ตัดขาด พท. เผยปมโดนลดทุกบทบาทในพรรค ปูด “บิ๊ก พท.” ว้ากผู้สมัครนายก อบจ.ให้เจ้าตัวช่วยหาเสียงหลายจังหวัดอีสาน ขู่ตัดน้ำเลี้ยง-ห้ามใช้โลโก้พรรค แถมล้างบางทีมงาน ไร้ชื่อร่วม กก.แทบทุกชุด จ่อตั้ง “ชัยเกษม” วางยุทธศาสตร์แทน
วันนี้ (30 พ.ย.) รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีแกนนำรายอื่นๆ อาทิ นายโภคิน พลกุล, นายวัฒนา เมืองสุข และ นายพงศกร อรรณนพพร ตัดสินใจลาออกในคราวเดียวกันด้วย
สำหรับสาเหตุที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ตัดสินใจลาออกจากพรรคเพื่อไทย ก็เนื่องมาจากแนวทางการทำงานที่ไม่ตรงกับแนวทางของกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน โดยมีปัญหากันมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ภายหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 ที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จนที่สุดคุณหญิงต้องลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ในช่วงที่มีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
จากนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ ก็ยังลงพื้นที่ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านต่างๆ ของพรรคเพื่อไทยอยู่บ้าง โดยล่าสุด ในการหาเสียงเลือกตั้งสนามนายก และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ ซึ่งพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครนายก อบจ.ลงในนามพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการใน 25 จังหวัด แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่สามารถช่วยหาเสียงในสนาม อบจ.ได้ ทางพรรคเพื่อไทยจึงได้จัดตั้งทีมผู้ช่วยหาเสียงของพรรค ที่ประกอบไปด้วย แกนนำและผู้บริหารพรรค ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส. นำโดย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, นายวรชัย เหมะ, นายพิชัย นริพทะพันธุ์, นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด, นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ และ น.ส.อรุณี กาสยานนท์ เป็นต้น ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปช่วยหาเสียงใน 25 จังหวัด ที่ทางพรรคส่งผู้สมัคร ระยะหลัง คุณหญิงสุดารัตน์ ก็ได้ไปช่วยผู้สมัครนายก อบจ.หาเสียงในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน เนื่องจากได้รับการร้องขอจากกลุ่ม ส.ส.ภาคอีสานในหลายจังหวัดที่รวมตัวกันไปเข้าพบที่บ้านพัก
ที่ผ่านมา คุณหญิงสุดารัตน์ ได้เดินสายไปแล้วหลายจังหวัด อาทิ จ.นครพนม, นครราชสีมา, หนองบัวลำภู รวมไปถึง จ.ร้อยเอ็ด ที่คุณหญิงสุดารัตน์ ไปช่วย นายมังกร ยนต์ตระกูล อดีตนายก อบจ.ร้อยเอ็ด ที่ลงสมัครในนามกลุ่มเพื่อไทยร้อยเอ็ด ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า นายมังกรไม่ได้รับการรับรองส่งลงสมัครจากทางพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด จากความเคลื่อนไหวของคุณหญิงสุดารัตน์ดังกล่าว ทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทยปัจจุบันไม่พอใจ และตำหนิไปยังผู้สมัครนายก อบจ.และ ส.ส.ในพื้นที่ว่า หากมีการเชิญหรือให้คุณหญิงสุดารัตน์ไปช่วยหาเสียง จะถูกตัดการสนับสนุนจากทางพรรค และจะไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์พรรคเพื่อไทยในการหาเสียงอีก
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยได้กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการของพรรค 11 ด้าน โดยจะดึงบุคลากรของพรรค ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประชาชน, กลุ่มแคร์ ตลอดจนอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ เข้าร่วม ซึ่งหลายคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบางชุดที่หลุดออกมาก่อนหน้านี้ เป็นที่สังเกตว่า แกนนำและบุคคลที่ใกล้ชิดกับคุณหญิงสุดารัตน์ได้ถูกลดบทบาทลงอย่างเห็นได้ชัด อาทิ กลุ่มเพื่อไทยพลัส ที่เป็นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ตามนโยบายของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ในยุคคุณหญิงสุดารัตน์ ได้ถูกสั่งให้ยุติบทบาท และมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ขึ้นมาทดแทน โดยมี นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ เป็นประธานคณะกรรมการ แต่กลับไม่ปรากฏชื่อคนสนิทของคุณหญิงสุดารัตน์ อย่างนายสุรชาติ เทียนทอง อดีตรองประธานกลุ่มเพื่อไทยพลัส คนที่ 1 และ นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตเลขาธิการกลุ่มเพื่อไทยพลัส ร่วมด้วยแต่อย่างใด เช่นเดียวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการสภา ซึ่งมี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน รวมทั้งคณะกรรมการด้านการบริหารและพัฒนากิจการพรรคเพื่อไทย ที่มี นายประเสริฐ ทรัพย์รวงทอง เลขาธิการพรรค เป็นประธาน ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าขาดการมีส่วนร่วมจากกลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์เช่นกัน นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการการเมืองขึ้นมาอีก 1 ชุด มี นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม และผู้ได้รับการเสนอชื่อ (แคนดิเดต) เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน โดยมีอำนาจหน้าที่ทดแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของคุณหญิงสุดารัตน์ที่ถูกยุบไปด้วย
นอกจากจากนี้มีรายงานข่าวว่านอกจากคุณหญิงสุดารัตน์แล้ว ยังมี นายโภคิน พลกุล นายวัฒนา เมืองสุข คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และนายพงศกร อรรณนพพร อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ยื่นลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ก.ย.63 คุณหญิงสุดารัตน์ได้ลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรค