xs
xsm
sm
md
lg

ย้ำประกาศ คปก.ช่วยเกษตรกรยากไร้มีที่ทำกินและรายได้ยั่งยืน ปัดเอื้อนายทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธรรมนัส” แจงประกาศ คปก.เน้นให้เกษตรกรยากไร้มีที่ทำกินและรายได้ยั่งยืน การอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องยังคงต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย คปก. ไม่เปิดช่องกลุ่มผลประโยชณ์ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อกิจการอื่น ตามกระแสวิจารณ์

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงกรณีกระแสข่าวว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ได้ปฏิบัติราชการแทนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) โดยลงนามประกาศ คปก.เรื่องรายการกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ประกาศ กำหนดมาตรา 30 วรรค 5 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ส.ป.ก.(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 และ พ.ศ. 2563 เพื่ออนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อกิจการอื่นๆ ที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีความชัดเจนเกิดมีผลสัมฤทธิ์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบันและสอดคล้องตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม โดยลงนามในประกาศวันที่ 28 ต.ค. 2563 มีผลบังคับใช้ทันทีนั้น

สืบเนื่องจาก ที่ ส.ป.ก.มีอำนาจจัดที่ดินให้บุคคลซึ่งมิใช่เกษตรกร หรือ สถาบันเกษตรกรตามมาตรา 30 วรรคห้า คือ การใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คปก.ก็มีอำนาจตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 19 กำหนดแนวทางให้ ส.ป.ก.ปฏิบัติได้ (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 391/2534) โดยเหตุแห่งการออกประกาศ คปก.ฉบับดังกล่าว ก็เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 ที่รัฐพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และสอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย (มาตรา 258 ค (1) )

เนื่องจากที่ผ่านมา การพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ของ ส.ป.ก.จังหวัดต่างๆ เกิดความล่าช้า และเกิดการตีความไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดความชะงักงันของผู้ประกอบการ ขาดความชัดเจนของแนวทางการพิจารณารายการกิจการตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สูญเสียโอกาสในการได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการ ทั้งทางด้านการตลาด การสาธิต การสร้างรายได้ การสร้างงาน การบริการขั้นพื้นฐานที่พึงเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน ในทุกพื้นที่

ทั้งนี้ ประกาศ คปก.ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2563 จึงเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 19 ประกาศรายการกิจการ ซึ่งเป็นกิจการที่พิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินภายใต้กรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ คือ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯ เพื่อเป็นแนวทางการใช้ดุลยพินิจให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเท่านั้น ทั้งนี้ การพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ยังคงต้องอยู่ภายใต้ระเบียบ คปก.และข้อพิจารณาตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น ประกาศ คปก.ดังกล่าวจึงไม่ใช่ฐานทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การเปิดช่องหรือเอื้ออำนวยการให้มีการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ไปเพื่อกิจการอื่นที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายปฏิรูปที่ดินแต่อย่างใด

“ประกาศฉบับนี้ผ่านการกลั่นกลองจากนักกฎหมายของ สปก. ผู้แทนจากสภาพัฒน์ อดีตเลขาฯ ส.ป.ก.หลายๆ ท่าน และประเด็นสำคัญคือประโยชน์สูงสุดคือพี่น้องเกษตรกร อาชีพเกษตรกรผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. เราควรดูแลพวกเขา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำครับ มิฉะนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถหลุดจากกับดักแห่งความยากจนได้ การตลาดมีความสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ดังนั้น กิจการอื่นที่สนับสนุนอาชีพเกษตรกรจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการผลิต ประเด็นสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ สิ่งที่พี่น้องเกษตรกรเรียกร้องเพราะต้องการให้มีตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตร ดังนั้น กิจการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร คำว่าโรงงานแปรรูป หรือโรงงานที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรจึงมีกฎหมายรองรับตามรายละเอียดที่แนบท้ายมา”

ร.อ.ธรรมนัสยังระบุว่า จากการไปประชุม ครม.สัญจรที่ภูเก็ต ตนได้รับรายงานจาก ส.ป.ก. และรับฟังเสียงจากประชาชนผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.ว่าสภาพที่ดินส่วนใหญ่กลางเป็นชุมชนไปกว่า 89% มีโรงแรม 3-5 ดาว กว่า 300 แห่ง เป็นโฮมสเตย์ ไม่น้อยกว่า 100 แห่ง ประชาชนในหลายๆ จังหวัดก็มีบริบทไม่ต่างจากภูเก็ต กระบี่ พังงา ฯลฯ ดังนั้นควรมีการแก้ไขระเบียบ คปก. เพื่อยึดคืนหลวงก่อนดำเนินการให้ขั้นตอนต่อไป โดยมิให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนดังกล่าว

สำหรับกรอบแนวคิดการจัดที่ดินสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีดังนี้

1. ฐานอำนาจการจัดที่ดินกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 ขยายขอบเขตการจัดที่ดินให้กว้างขวางขึ้นจากการนำที่ดินรัฐหรือที่ดินที่จัดซื้อมาจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร เพื่อประกอบเกษตรกรรม หรือการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ให้มีอำนาจจัดที่ดินให้บุคคล (บุคคลธรรมดา นิติบุคคล : ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น) เพื่อประกอบกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 30 วรรคห้า ดังนั้น ส.ป.ก.จึงมีอำนาจจัดที่ดินนอกจากการประกอบเกษตรกรรม ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจให้กระทำได้โดยชอบ

2. ขอบจำกัดของกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ
กิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ จะต้องเป็นกิจการตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

3. กรอบการพิจารณาการเป็นกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ
- กิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยพิจารณาจากลักษณะของกิจการและผลที่ได้จากการประกอบกิจการ (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามหนังสือที่ นร 0601/596 ลว 3 เมษายน 2535) ซึ่งเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้รับประโยชน์ จากกิจการนั้นโดยตรง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 1728/2559)

4. ประเภทกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน
ปรากฏตามที่ประกาศไว้ในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดกกิจการอื่นที่เป็นการ สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติ การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2532 (วันที่ 27 พฤศจิกายน 2533) และฉบับที่ 2 (วันที่ 9 พฤษภาคม 2543) คือ

1. กิจการที่เป็นการสนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน หมายถึงกิจการ
1.1 กิจการทางวิชาการเกษตร การสาธิต การทดลอง เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร
1.2 กิจการที่ส่งเสริม หรือประกันราคาพืชผลทางเกษตร หรือลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร
1.3 กิจการที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน ส.ป.ก. ในการดำเนินการผลิตและการจำหน่ายผลิตผลทาง การเกษตร
1.4 กิจการที่เป็นการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม และปัจจัยการผลิตตลอดจนการผลิต การจำหน่าย และการตลาดให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
1.5 กิจการที่เป็นการบริการหรือเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรในด้านเศรษฐกิจและสังคมในเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ซึ่งกิจการนั้นต้องอยู่ในพื้นที่ที่ คปก. กำหนดให้เป็นพื้นที่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

2. กิจการที่เป็นการเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หมายถึง กิจการแปรรูปผลิตผลเกษตรกรรม ซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก
กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับประเภทกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศ ให้ คปก. พิจารณาวินิจฉัย (คปก. ไม่มีอำนาจกำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่อง)

5. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ
ในขณะที่ มาตรา 30 วรรคห้า เป็นฐานอำนาจให้ ส.ป.ก. มีอำนาจจัดที่ดินสำหรับกิจการอื่นที่เป็น การสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องฯ แต่ทั้งนี้ ยังต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบที่ คปก. กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดไว้ในระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตและการให้ผู้รับอนุญาตถือปฏิบัติในการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์สำหรับกิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2541

- ผู้มีอำนาจพิจารณา คือ - คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนเกษตรกร) (ระเบียบ คปก. ข้อ 7)

- แผนงานโครงการฯ - ต้องแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่คาดว่าเกษตรกร สถาบันเกษตรกร เพื่อประกอบคำขออนุญาตฯ และ ส.ป.ก. จะได้รับ (ระเบียบ คปก. ข้อ 4 (ช) )

- การบูรณาการร่วมกับชุมชน - กิจการที่ขออนุญาตจะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนและ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความปลอดภัยของราษฎรในพื้นที่ (ระเบียบ คปก. ข้อ 11) (มีการประชาคมหมู่บ้าน/การประชุมสภา อบต. ในพื้นที่)

- การควบคุมตามกฎหมายอื่น - ก่อนลงมือก่อสร้างผู้เช่าต้องแสดงหลักฐานการได้รับอนุญาตให้ ก่อสร้างและต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการตามกฎหมาย มิเช่นนั้น ส.ป.ก.มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ (สัญญาเช่าที่ดินฯ ข้อ 5 - 6)

- ขนาดเนื้อที่ที่อนุญาต - ไม่เกิน 50 ไร่ (มาตรา 30 วรรคห้า)














พระบรมราโชบายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน


1. การแบ่งสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรในชั้นต้นควรให้เป็นไปตามเนื้อที่ที่เกษตรกรถือครองอยู่เดิม ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะโดยเป็นเจ้าของที่ดินเองหรือโดยการเช่า ทั้งนี้ ภายในขอบเขตที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 กำหนดไว้ พื้นที่อาจจะลดลงไปบ้างตามสภาพภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นนั้นๆ

2. การจัดตั้งชุมชนที่อยู่อาศัย ควรให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกร และให้สอดคล้อง กับสภาพเดิมของท้องถิ่นนั้นๆ ให้มากที่สุด และจัดชุมชนให้อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนเพื่อความปลอดภัย และทำให้การ ลงทุนในด้านการจัดสาธารณูปการ เช่น น้ำสะอาด ไฟฟ้า ฯลฯ ถูกลงด้วย

3. จัดระบบการรวมกลุ่มในระดับหมู่บ้านรวมกันเป็นสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินและเชื่อมโยงไปถึง สหกรณ์ในเมืองใหญ่ๆ เพื่อให้สหกรณ์สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ของสมาชิกได้อย่างกว้างขวางโดยแท้จริง

4. การพัฒนาด้านต่างๆ รวมทั้งการจัดระบบชลประทาน คมนาคม และบริการสาธารณูปการต่างๆ เมื่อดำเนินจัดหาได้แล้ว ต่อไปก็ให้สหกรณ์รับช่วงไปดำเนินการต่อและจัดการบำรุงรักษาต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลค่อยๆ ถอนตัวออกได้เมื่อสหกรณ์มีประสิทธิภาพพอเพียงที่จะรับช่วงต่อไป

5. ในระยะแรกจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถและเสียสละอยู่ประจำเพื่อให้คำแนะนำ ส่งเสริมแก่สหกรณ์โดยใกล้ชิด และจัดให้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากส่วนกลางออกไปตรวจการ ดูแล เยี่ยมเยียน และ ให้คำแนะนำเป็นการให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่โดยสม่ำเสมอ

6. การจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรจะต้องคำนึงถึงการขยายตัวของประชากรในท้องถิ่นนั้นใน อนาคตด้วย ดังนั้น ป่าไม้ชุมชนที่ดำริจะจัดสร้างขึ้น อาจใช้เป็นที่สำรองสำหรับการทำมาหากินในอนาคตได้ด้วย

7. การปฏิรูปที่ดินในแต่ละท้องที่ จะต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วในระยะเวลาประมาณ 2 – 3 ปี เพื่อให้เกษตรกรเห็นผลโดยไม่ชักช้า

8. สำหรับเงินชดเชยค่าที่ดินที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ซึ่งรัฐบาลจะต้องทูลเกล้าฯ ถวายตามกฎหมายของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น จะพระราชทานเป็นเงินหมุนเวียนสำหรับการดำเนินงานของสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว โดยจะได้ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาส าหรับบริหารเงินทุนนี้ขึ้น คณะหนึ่ง

9. มีพระราชประสงค์ให้ผู้ที่เป็นผู้เช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่เดิมได้ทำกินในที่ดินนั้น ต่อไปชั่วลูกชั่วหลานตราบที่ยังยึดถืออาชีพเกษตรกรรมอยู่ แต่จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น