xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ชัด! ประกาศ “ธรรมนัส” ในราชกิจจาฯ ไม่ใช่หลักเกณฑ์แจกที่ดิน ส.ป.ก. ใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ป.ก. ยืนยัน ประกาศของ “ธรรมนัส” แค่เป็นคำอธิบายประกาศฉบับเดิมให้ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่หลักเกณฑ์แจกที่ดิน ส.ป.ก.ใหม่ ส่วนเกษตรกร ใช้ทำรีสอร์ทยังทำไม่ได้.
.
รายงานพิเศษ
.
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง “รายนามกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนเกี่ยวเนื่องกันกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ” ถูกประกาศในราชกิจจาบุเบกษา โดยลงชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 

ประกาศฉบับนี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์พอสมควร เพราะในประกาศ ระบุถึงกิจการต่างๆ ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. หลากหลายประเภท ตั้งแต่ ปั๊มน้ำมัน โรงงานน้ำตาล โรงงานน้ำมันพืช โรงงานแปรรูปไม้ โรงฆ่าสัตว์  ตลาด ร้านค้าปลีก ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านตัดผม สถานีขนส่ง ร้านจำหน่ายอาหาร จึงถูกตั้งคำถามว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่ และอาจเป็นการเปิดช่องให้กลุ่มทุนเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ส.ป.ก. ได้ง่ายขึ้นหรือไม่ 


นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ชี้แจงกับทีมข่าว MGR Online ว่า แท้จริงแล้ว การออกประกาศฉบับนี้ เป็นเพียงการกำหนดนิยามของประกาศฉบับเดิมเมื่อปี 2532 ให้มีความชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่การเพิ่มเติมรูปแบบกิจการใหม่ที่จะมีสิทธิได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.เข้าไป

โดยย้ำว่า หลักเกณฑ์การให้ที่ดิน ส.ป.ก.ตั้งแต่กฎหมายปี 2518 มี 3 ข้อ คือ 1. จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรเพื่อทำเกษตรกรรม 2. จัดสรรที่ดินให้บุคคลทั่วไปสำหรับกิจการอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร และ 3. อนุญาตให้เอกชน หรือ ส่วนราชการที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทำกิจการที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร ทั้งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานและสวัสดิการของรัฐ 

เลขาธิการ ส.ป.ก. ระบุว่า ประกาศที่ออกมาล่าสุดจึงไม่ใช่การเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ของ ส.ป.ก. เพราะรูปแบบกิจการต่างๆ ที่ถูกระบุอยู่ในประกาศ ได้ใช้หลักเกณฑ์นี้มานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีประกาศที่กำหนดรูปแบบกิจการที่ชัดเจนออกมาก่อนหน้านี้ 
ด้าน “นิติกร” ในสำนักงาน ส.ป.ก. อธิบายเพิ่มเติมว่า ประกาศเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ลงนามโดย ร.อ.ธรรมนัส เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 ซึ่งมีลักษณะคำนิยามว่า กิจการเหล่านั้นต้องเป็นไปเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเกษตรกร จึงเปิดพื้นที่ให้มีกิจการบางอย่างที่เหมาะกับบริบทของชุมชน เช่น อนุญาตให้ใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ตั้งโรงงานน้ำตาล ในชุมชนที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกอ้อย เพื่อช่วยลดค่าขนส่งของเกษตรกร แต่ถ้าในพื้นที่ไม่มีเกษตรกรที่ปลูกอ้อยเลย แต่มาขอใช้พื้นที่ตั้งโรงงานน้ำตาล ก็จะถือว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ 

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เดิมมีประกาศฉบับแก้ไขไว้เมื่อปี 2532 แต่ที่ผ่านมา คือ ในปี 2533 และ 2543 รัฐมนตรีเกษตรฯ กำหนดคำนิยามของกิจการที่เข้าข่ายได้รับจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. ไว้แล้วก็จริง แต่ค่อนข้างเป็นนามธรรมมาก ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อประกอบกิจการต่างๆ ได้ ทำให้บางพื้นที่ใช้ดุลพินิจกว้างขวางเกินไป ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เพื่อเกษตรกร

ส่วนในบางพื้นที่กลับใช้ดุลพินิจแคบเกินไป ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เหมือนถูกสต๊าฟไว้ ไม่สามารถได้รับโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตจากหลักเกณฑ์ข้อนี้ ดังนั้น การออกประกาศฉบับล่าสุด จึงเป็นไปเพื่อกำหนดรูปแบบกิจการที่สามารถให้ใช้พื้นที่ ส.ป.ก. ได้ ให้ชัดเจนมากขึ้น และทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้ง่ายขึ้น 
ส่วนคำถามว่า ประกาศฉบับนี้ จะทำให้เกษตรกรที่มีที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อทำการเกษตรอยู่แล้ว สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำกินได้หรือไม่ “นิติกร” ของ สำนักงาน ส.ป.ก. ให้คำตอบว่า เกษตรกรที่ได้ที่ดินไปเพื่อทำเกษตรกรรมตามข้อ 1 เป็นกลุ่มที่ได้สิทธิในที่ดินด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจง คือ ต้องระบุคุณสมบัติว่า ต้องเป็นเกษตรกรเท่านั้น และต้องทำการเกษตรเท่านั้น จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่ไปทำกิจการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรได้ เช่น จะนำที่ดิน ส.ป.ก. ไปทำรีสอร์ท หรือ โฮมสเตย์ ยังไม่ได้ เพราะไม่ใช่การทำเกษตรกรรม 

ส่วนหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ คือ หลักเกณฑ์ข้อที่ 2 ซึ่งระบุไว้ว่า “จัดสรรที่ดินให้บุคคลทั่วไป” จึงไม่ได้เฉพาะเจาะจงตั้งแต่แรกว่าต้องเป็นเกษตรกร เพียงแต่จะดูว่า รูปแบบกิจการที่ขออนุญาตใช้ที่ดินเป็นผลเกี่ยวเนื่องที่จะสนับสนุนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนนั้นหรือไม่ ซึ่งตามประกาศฉบับใหม่ ก็จะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นข้อๆ ตามมา

โดนสำนักงาน ส.ป.ก. กำลังเร่งจัดทำ “แนวทางปฏิบัติ” เพื่อส่งให้ ส.ป.ก. จังหวัด ใช้เป็นเครื่องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตในการพิจารณาแต่ละครั้ง 

ส่วนที่มีข้อเสนอว่า หากจะปรับแก้กฎหมาย ส.ป.ก. ก็ควรไปให้ความสำคัญกับการกำหนดนิยามที่คับแคบต่ออาชีพเกษตรกร ซึ่งเป็นปัญหามากกว่า เช่น ควรแก้ไขหลักเกณฑ์ห้ามใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ทำกิจการท่องเที่ยว ทั้งที่ที่ดินมีศักยภาพ หรือห้ามทายาทที่เป็นข้าราชการรับช่วงต่อที่ดิน ส.ป.ก. จากบุพการี

ทางนิติกรของ ส.ป.ก. ยอมรับว่า กฎหมาย ส.ป.ก. ใช้มาตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งนานมากแล้ว และรูปแบบหรือบริบทการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกรที่เปลี่ยนแปลงไปมากตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นทาง ส.ป.ก. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายจะปรับปรุงกฎหมายอยู่แล้ว

ประเด็นเหล่านี้ก็กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมปัญหาทั้งหมดมาวิเคราะห์ เพื่อหาจุดที่ลงตัวของระบบการปฏิรูปที่ดินเป็นข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมาย








กำลังโหลดความคิดเห็น