“ชวน” ย้ำสร้างวินัยคนไทยแก้ปัญหาอุบัติเหตุ เชื่อคนไทยทำได้ เผยทำหนังสือถึงนายกฯ พิจารณาแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอย่างจริงจัง มุ่งหวังลดการสูญเสียบนท้องถนน
วันนี้ (13 พ.ย.) ที่รัฐสภา โดยคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางท้องถนน ร่วมกับแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ภาคีงานด้านความปลอดภัยทางถนนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุม เรื่อง “รัฐสภาไทย มุ่งมั่น ลดเจ็บ ลดตาย บนท้องถนน” เนื่องในโอกาสที่เป็นวันรำลึกถึงผู้สูญเสียบนท้องถนน หรือ Road Safety : World Day of Remembrance 2020 ทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ทราบข้อมูลเมื่อ 3 วันที่ผ่านมาพบว่ามีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 12,847 ราย ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่หมายถึงการเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ เป็นตัวเลขที่ลดลงมาจากผลของการเกิดโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไประยะหนึ่ง แต่ตัวเลขที่สะสมจนถึงวันที่ 10 พ.ย. 2563 มีผู้บาดเจ็บกว่า 840,000 ราย เป็นตัวเลขที่ฟ้องเราอยู่ทุกวัน แต่ทั้งหมดมาจากเรื่องของวินัย อย่างไรก็ตาม ขอเล่าประสบการณ์ว่าช่วงที่ผ่านมามีหน่วยงานมาเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 มาเก็บข้อมูลที่ จ.ตรัง ในฐานะเจ้าบ้านได้รับฟังการบอกเล่าว่าประเทศไทยดีหลายอย่าง เสียอย่างเดียวมีคนไทยอยู่ ตนจึงสวนกลับว่าประเทศไทยเรามีดีที่มีคนไทยอยู่ แต่เอาเรื่องที่ไม่ดีมาวัดเพียงเรื่องเดียว คือ “เรื่องวินัย” มาวัดแล้วตัดสินไม่ได้ เรื่องการเสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุ แม้เราจะติดอันดับต้นๆ ของโลก ถือเป็นจุดอ่อนที่ทำให้หลายคนเอาเรื่องนี้มาวัดคุณภาพของคนไทย เคยบอกว่าไม่จริง เรามีอะไรที่โดดเด่นและมีอะไรที่เป็นวาระแห่งชาติอีกหลายเรื่อง
ส่วนเรื่องการเกิดอุบัติเหตุยอมรับว่าส่วนตัวมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมาก เมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุทางเรือที่ จ.ภูเก็ต มีชาวจีนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ได้เขียนหนังสือถึงเอกอัครราชทูตจีนเพื่อแสดงความเสียใจ รวมถึงโทรศัพท์ไปหา ส.ส.ภูเก็ต เพื่อขอให้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ อีกเหตุการณ์หนึ่งที่รู้สึกเสียใจ คือ นักปั่นจักรยานเยาวชนของประเทศเกาหลี ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศไทย จึงได้เขียนจดหมายแสดงความเสียใจผ่านไปยังเอกอัครราชทูตเกาหลีเช่นกัน และเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2563 ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่เจ็บปวดกับการเกิดอุบัติเหตุ หากเราไม่ฝึกกันอย่างจริงจังให้เป็นวินัย
“ผมเคยเดินทางไปดูเรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่ประเทศเวียดนาม เป็นเวลา 6 วัน ตั้งใจนั่งรถเพื่อจับผิดการสวมหมวกกันน็อกของคนขี่จักรยานยนต์ เพราะได้รับฟังข้อมูลมาว่าการขี่จักรยานยนต์ที่นี่เสี่ยงมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่าไม่สามารถจับผิดได้เลย เพราะว่าทุกคนสวมหมวกกันน็อกทุกคน เป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่าทำไมเขาถึงทำได้ จึงได้สอบถามทราบว่าค่าปรับไม่สวมหมวกกันน็อกแพงกว่าราคาหมวกกันน็อกถึงสองเท่า ทำให้คนเวียดนามยอมใส่หมวกกันน็อก แต่เรื่องหนึ่งที่คนเวียดนามทำไม่ได้คือการสูบบุหรี่ในห้องแอร์ โดยอ้างว่าเลิกไม่ได้เพราะเป็นวิถีชีวิต แต่เมื่อหันกลับมามองที่บ้านเรา ทำไมเรื่องการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ห้องแอร์ ห้องอาหาร หรือลดการสูบบุหรี่ เราทำได้ และประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วคนไทยทำได้ ดังนั้น เรื่องของวินัย ไม่ใช่เราแย่กว่าที่อื่น แต่อยู่ที่เราเอาจริงหรือไม่ ถ้าเอาจริงเราทำได้ วินัย คือ หัวใจการแก้ปัญหา ดังนั้นการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ เราสามารถทำได้ หากมีการฝึกวินัยสะสมมาตั้งแต่ต้น” นายชวนกล่าว
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ด้านความปลอดภัยทางถนน ความก้าวหน้า และข้อท้าทายในการดำเนินงานของสมาชิกรัฐสภาในช่วงปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับวาระโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และมาตรการที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับว่าได้ผลในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือและความมุ่งมั่นร่วมกันระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาและในการดำเนินงานเพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
สำหรับการจัดสัมมนา “รัฐสภาไทย มุ่งมั่น ลดเจ็บ ลดตาย บนท้องถนน” มีการจัดนิทรรศการเพื่อสร้างจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัย โดยเน้น ให้ทาง ลดเร็ว และดื่มไม่ขับ ซึ่งภายในงานยังมีการยืนไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากการใช้รถใช้ถนนเป็นเวลา 1 นาที นอกจากนี้ในการจัดสัมมนายังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหลากหลายประเด็นจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว เช่น เรื่องความปลอดภัยทางถนน วาระโลกหลังทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2011-2020 โดย Dr. Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย สถานการณ์การเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย จาก นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ เลขาธิการมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ความก้าวหน้า ข้อท้าทาย และก้าวต่อไปของการดำเนินงานของคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมการฯ ระบบความปลอดภัยทางถนนสำหรับประเทศไทย จากนายแพทย์ทวีวงษ์ จุลกมนตรี ประธานอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน และเรื่องความก้าวหน้า ข้อท้าทาย และก้าวต่อไปของการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการคมนามคม สภาผู้แทนราษฎร โดยนายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นต้น
ทั้งนี้ หลังการจัดสัมมนาจะนำข้ออภิปรายและข้อสรุปสำหรับก้าวต่อไปของรัฐสภาไทย เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอผลักดันนโยบายกฎหมายด้านความปลอดภัยทางถนนไปยังรัฐบาลเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศตามกรอบระบบความปลอดภัยทางถนนต่อไป