xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ส่งออกหมูร้องนายกฯ ช่วยเหลือ กัมพูชาอนุมัติแค่ 5 บริษัทส่งออก อ้างไข้หวัดแอฟริกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มผู้ประกอบการส่งออกสุกร (แฟ้มภาพ)
กลุ่มผู้ประกอบการส่งออกสุกร ยื่นหนังสือ “ประยุทธ์” ขอความเป็นธรรม เดือดร้อน ไม่สามารถส่งออกสุกรไปยังกัมพูชาได้ อ้างไข้หวัดแอฟริกัน อนุมัติแค่ 5 บริษัท “สุภรณ์” รับเรื่องประสานหน่วยเกี่ยวข้อง

วันนี้ (10 พ.ย.) เวลา 09.40 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เดิม กลุ่มผู้ประกอบการส่งออกสุกร นำโดยนายกาจกำแหง พูลทรัพย์ และนายณัฐพล ลิโป้ ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ เพื่อขอความเป็นธรรม เนื่องจากผู้ส่งออกสุกรมีความเดือดร้อนไม่สามารถส่งออกสุกรไปยังกัมพูชาได้ เพราะกัมพูชาอ้างโรคไข้หวัดแอฟริกันสุกร และอนุมัติแค่ 5 บริษัทไทยนำเข้า โดยขอให้นายกฯ ช่วยเหลือ คือ 1. ขอเพิ่มรายชื่อบริษัทที่สามารถส่งออกหรือนำผ่านสุกรไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา 2. ขอให้ตั้งคณะกรรมการในการดำเนินการเพิ่มชื่อบริษัทในการส่งออกสุกร โดยขอให้กรมปศุสัตว์ไทยเป็นเจ้าภาพในการติดต่อประสานงานกับกรมปศุสัตว์กัมพูชา โดยมีข้อกำหนดกรอบเวลาและเงื่อนไขขั้นตอนที่ชัดเจนให้เป็นที่ยอมรับด้วยกันทั้งสองฝ่าย และ 3. ให้ยึดหลักสิทธิการค้าเสรีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การตัดสิทธิการส่งออกไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งผู้ส่งออกไปทราบเรื่องพร้อมกันที่ด่านกักกันสัตว์ในแต่พื้นที่ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนกว่า 20 บริษัท ไม่สามารถส่งออกได้

จากนั้นเวลา 09.45 น. นายสุภรณ์เป็นประธานการหารือการแก้ไขปัญหาการส่งออกสุกรไปราชอาณาจักรกัมพูชา ร่วมกับ น.สพ.ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และตัวแทนกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และรับข้อเรียกร้องร่วมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาของทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อทราบโดยด่วน ด้านรองกรมปศุสัตว์ชี้แจงว่า กรมปศุสัตว์ได้ประสานไปยังราชอาณาจักรกัมพูชาขอให้ผ่อนผันการส่งออกก่อน ซึ่งทางราชอาณาจักรกัมพูชาได้ผ่อนผันการส่งออกถึงวันที่ 16 พ.ย.นี้ หลังจากนั้นยังคงยื่นยันตามเดิม คือ อนุญาตให้ส่งออกได้แค่ 5 รายเท่านั้น ขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการประสานงานและหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน และกรมการค้าระหว่างประเทศ ในการช่วยเหลือต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น