ที่ปรึกษานายกฯ บรรยาย พตส. ชู รธน.ยิ่งใหญ่ในชีวิตมนุษย์ แต่ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ ชี้ต้องให้รู้สึกคุ้มครองชีวิตได้ ระบุลอกต่างประเทศไม่ได้ วัฒนธรรมต่างกัน ไม่มีสิทธิเขียนทำลายความเป็นชาติ ควรเขียนเพื่อตอบสนองแก้ปัญหาสังคม
วันนี้ (6 พ.ย.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายวิชาการเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” แก่นักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมือง และการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่น 1-11 ว่ารัฐธรรมนูญคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตมนุษย์ แต่คนไทยบางส่วนรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของประชาชน เป็นเรื่องของการเมือง คนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึก หรือให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของความเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศ
“รัฐธรรมนูญจะมีความสำคัญจริงหรือไม่ อยู่ที่ความรู้สึกของคน ที่ต้องรู้สึกว่าสิ่งนี้คือสิ่งสำคัญในชีวิต ไม่ใช่เพราะเราเขียนว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ต้องทำให้คนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สูงสุด และคุ้มครองชีวิตเขาได้”
นายพีระพันธุ์กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญเราลอกกันไม่ได้ ไม่ใช่เห็นรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ดี หรือเรียนฝรั่งเศลแล้วชอบแบบนั้นก็จะเอาเขามา เพราะรัฐธรรมนูญคือวิวัฒนาการระบบวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ความคิดความรู้สึกบางเรื่องแตกต่างกัน การเขียนรัฐธรรมนูญจึงต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมประเพณีด้วย และไม่ลืมสิ่งเหล่านี้
“รัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิที่จะทำลายชาติบ้านเมือง คุณไม่มีสิทธิที่จะเขียนรัฐธรรมนูญทำลายความเป็นมาของประเทศ ทำลายวัฒนธรรมประเพณี หรือความเป็นชาติได้ เพราะความเป็นชาติ ความเป็นประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพ เป็นคนละเรื่องกัน รัฐธรรมนูญนอกจากจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในประเทศแล้วจะต้องคงความเป็นชาติต่อไปให้ลูกหลานอีกด้วย ความเป็นชาติที่เป็นชาติของเรา ไม่ใช่ชาติที่พัฒนากลายเป็นสหรัฐฯ หรืออังกฤษ แต่สุดท้ายความเป็นไทยหาย การเขียนรัฐธรรมนูญนอกจากจะคิดเรื่องประชาธิปไตยจะต้องคิดถึงความเป็นชาติของเราด้วย ผมคิดว่าสำหรับประเทศไทย ชาติไทย ความเป็นชาติของเราคือสถาบันพระมหากษัตริย์”
นายพีระพันธุ์กล่าวด้วยว่า ไม่เข้าใจที่มีการพูดว่าประเทศจะเจริญหรือไม่เจริญอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร มองว่าเป็นความเข้าใจของคนที่โยงกันแบบผิดๆ บางคนบอกว่าประเทศเจริญได้ต้องไม่ให้คนที่ปฏิวัติมามาร่าง แต่ญี่ปุ่นคนที่ยึดประเทศซึ่งเป็นคนต่างชาติเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ คนญี่ปุ่นไม่มีส่วนร่วม ทำไมญี่ปุ่นถึงเจริญ ดังนั้น การเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญต้องมีเหตุผล ไม่ใช่อยู่ที่ใครเขียน แต่อยู่ที่ว่าสิ่งที่เขียนมาดีหรือไม่ ที่เรียกร้องให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่แต่หากไปลอกคล้ายๆ ของเก่า ก็เหมือนเดิม เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเขียนโดยคณะปฏิวัติหรือเขียนโดย ส.ส.ร. เนื้อหา โครงสร้าง ถ้อยคำ ก็เหมือนลอกกันมาตั้งแต่ปี 2475
“การเขียนรัฐธรรมนูญในอนาคตไม่ใช่เขียนแค่มุมการเมือง แต่จะต้องเขียนเป็นคู่มือของประชาชน ที่สามารถดำรงชีวิตได้ ทำมาหากินได้ ได้รับความคุ้มครองจากภาครัฐไม่ให้ถูกกระทำโดยมิชอบ ดังนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญในอนาคต จะต้องไม่ใช่แบบพัฒนาจาก 2475 หมดยุคแล้ว ซึ่งไม่ใช่ความเผด็จการ หรือเพื่อการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ต้องเป็นกฎหมายสูงสุดของคนไทย เพื่อให้แก้ปัญหาชีวิตในทุกๆ อย่างได้อย่างแท้จริง”
ส่วนประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังจะพูดกันในสภา คือ การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. ซึ่คิดว่าการจะมี ส.ส.ร.ขึ้นมาใหม่ อยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่ไม่ใช่มีส่วนร่วมโดยเสนอแค่เรื่องการเมือง ควรให้ประชาชนนำเสนอปัญหาของเขาที่ต้องการให้ภาครัฐดูแล แต่หากพูดแค่การเมืองอาจไม่เข้าใจและหาข้อยุติแท้จริงไม่ได้ จึงควรรวบรวมปัญหาของประชาชนให้ตกผลึกแล้วเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาของสังคมซึ่งจะทำให้สังคมเดินหน้าต่อได้ ความเหลื่อมล้ำลดลง คิดว่าสิ่งเหล่านี้สามารถวางหลักในรัฐธรรมนูญได้เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญตอบสนองปัญหาของชาติอย่างแท้จริง แต่จะแก้ปัญหาการเมืองในขณะนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องยากเพราะอยู่ที่ใจ หากใจไม่มีเหตุมีผล มีเป้าหมาย ทำอย่างไรก็ไม่จบ ดังนั้นอยู่ที่คนที่เข้ามามีส่วนร่วมว่ามีเป้าหมายเพื่อชาติบ้านเมืองจริงหรือไม่