ปลัด กษ.จ่อชงทบทวน “1 ตำบล 1 กลุ่มทฤษฎีใหม่” จากเงินกู้สู้โควิด-19 กว่า 9.8 พันล้าน เหตุตำบลบางแห่งมีผู้สมัครไม่เป็นไปตามเงื่อนไข แถมพบเกษตรกรสมัครตามเงื่อนไข แต่กลับไม่มีผู้สมัครจ้างงาน เผยจบ 3 รอบ เกษตรกร-กลุ่มว่างงาน แห่สมัคร 6 หมื่นราย ผ่านเกณฑ์ 3 หมื่นราย ไม่ผ่านเกณฑ์ 1.7 หมื่นราย ก่อนคิกออฟจริงกลางเดือน พ.ย.นี้
วันนี้ (4 พ.ย.) นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าต่อ “โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” ว่า จากที่เปิดรับสมัครเกษตรกรและแรงงานจำนวน 3 รอบ และได้ปิดรับสมัครในรอบที่ 3 ไปแล้วเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ เพื่อเริ่ม KICK OFF โครงการฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้
โดยทั้ง 3 รอบ มีผู้สมัคร จำนวน 67,414 ราย แบ่งเป็นเกษตรกร จำนวน 35,193 ราย ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาแล้ว 22,272 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 2,941 ราย ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณา 9,980 ราย และกลุ่มแรงงานมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ 32,221 ราย ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาแล้ว 18,675 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 6,143 ราย และไม่ผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณา 7,403 ราย
อย่างไรก็ตาม สำหรับตำบลที่มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพียง 1 ราย จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ เนื่องจากไม่ตรงตามเงื่อนไขในการจับกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ระบุว่า ต้องมีเกษตรกรเข้าร่วม 2 รายขึ้นไปใน 1 ตำบล เพื่อจับกลุ่มกันจ้างแรงงานได้ 1 ราย
ดังนั้น การขับเคลื่อนโครงการฯ ในระยะต่อไป กระทรวงเกษตรฯ จะขอทบทวนประเด็นดังกล่าวและนำเข้าครม. อีกครั้ง เพื่อขอมติ ครม.ดำเนินการตามเป้าหมายโครงการฯ ในการขยายผลโครงการระยะต่อไปกับกลุ่มเกษตรกรดังกล่าว
นอกจากนี้ ในกรณีที่มีเกษตรกรสมัครตามเงื่อนไขแต่ไม่มีผู้สมัครจ้างงาน จะพิจารณาจ้างงานจากผู้สมัครแรงงานตำบลข้างเคียงในอำเภอเดียวกันก่อน หากยังไม่เพียงพอให้ทางคณะทำงาน 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ระดับจังหวัด พิจารณาจ้างงานในอำเภอข้างเคียง โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของระยะเวลา ระยะทางและความสมัครใจของผู้จ้างงานเป็นหลัก และสำหรับเกษตรกรที่ขอถอนตัว ยกเลิก ขอสละสิทธิ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร
“กระทรวงเกษตรฯ เห็นควรให้คณะทำงาน 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ระดับอำเภอ ทำการสื่อสารทำความเข้าใจกับเกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรทบทวนการเข้าร่วมโครงการใหม่อีกครั้ง ถายในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้”
โครงการนี้ได้รับงบประมาณ 9,805.707 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กรอบวงเงินรวม 400,000 ล้านบาท ภายใต้แผนงาน “การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก” ใน พ.ร.บ.เงินกู้
มีเป้าหมายการดำเนินโครงการฯ เป็นกลุ่มเกษตรกรใน 4,009 ตำบล (เฉลี่ยตำบลละ 16 ราย) รวมทั้งสิ้น 64,144 ราย อีกทั้งมีการจ้างงาน ตำบลละ 8 คน รวม 32,072 ราย รายได้เดือนละ 9,000 บาท/ราย เป็นระยะเวลา 12 เดือน โดยคาดว่าในอนาคตจะมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้นรวม 192,432 ไร่ พื้นที่เก็บกับน้ำจุได้ รวม 256 ล้าน ลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ปลูกป่าเพิ่มขึ้น 19,253 ไร่