มหาดไทยซักซ้อมบทบาท ขรก.ประจำ รับเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ คาดเริ่ม 26 ต.ค.นี้ หลังนายก อบจ.-ส.อบจ.หยุดปฏิบัติหน้าที่-พ้นตำแหน่ง กำชับ ปลัด อบจ. หัวหน้าฝ่ายบริหาร พ่วง ผอ.เลือกตั้งประจำ อปท. แม้ไม่มีหนั่งสือสั่งการชั่วคราว แต่หากพบว่าไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ ก.ก.ต. ตั้ง ปจ. นายอำเภอ/ปลัดอำเภอ เป็นแทน พร้อมกำชับภารกิจผู้ว่าฯ-รองฯ- ปจ.-นายอำเภอ ทำหน้าที่เป็นผู้รับแจ้งเหตุการกระทำความผิด มาตรา 92 เรียกรับเงิน
วันนี้ (21 ต.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยออกเอกสารกำหนดบทบาทหน้าที่ของ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ภารกิจสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
รวมไปถึงกำหนดหน้าที่ของปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ปลัด อบจ.) เนื่องจากในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมการประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาซิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) โดยจะมีผลให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายก อบจ.พ้นจากตำแหน่ง
ทั้งนี้ กำหนดให้ปลัด อบจ.ต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายก อบจ.เท่าที่จำเป็นได้เป็นการชั่วคราว แม้ไม่มีหนังสือสั่งการกำหนดหน้าที่ที่จำเป็นเป็นการชั่วคราวไว้ เว้นแต่หน้าที่ของปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการกลางการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นที่กำหนดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น เช่น การสรรหาตำแหน่งที่ว่าง การเลื่อนระดับ เป็นต้น
“ในระหว่างที่มีการจัดการเลือกตั้ง ส.อบจ. และนายก อบจ. จนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ตามมาตรา 36 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม”
ขณะเดียวกัน ต้องปฏิบัติหน้าที่ “ผู้อำนวยการ (ผอ.) การเลือกตั้งประจำ อปท.” เพื่อดำเนินการเลือกตั้ง ส.อบจ. และนายก อบจ. ตามมาตรา 12 และมาตรา 25 แห่ง พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562
ยังมีหน้าที่ในการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดย “ผอ.ทะเบียนกลาง” ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร มีหน้าที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา 13 และการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง โดย อปท.เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์และการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง ตามมาตรา 37 โดยโรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง เป็นผู้จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง (ยกเว้นภาคกลาง และภาคตะวันออก โรงพิมพ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ “ผอ.การเลือกตั้งประจำ อปท.” แทน “หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่น” กรณีที่ปรากฏว่า “หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นของ อปท.ใดเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง หรือมีเหตุจำเป็นอื่นใด กกต.อาจแต่งตั้ง “ปลัดจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอ” เป็น ผอ.การเลือกตั้งประจำ อปท.นั้นแทนก็ได้ ตามมาตรา 25 วรรคสาม
สำหรับการสั่งเจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กรณีที่ อปท.ใด มีข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นหรือลูกจ้างของอปท.ไม่เพียงพอ ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ผอ.การเลือกตั้งประจำ อปท. หรือ กกต.ประจำ อปท.อาจร้องขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อมีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจังหวัดนั้น ให้ช่วยเหลือในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ ตามมาตรา 30 วรรคสอง
ส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในการเลือกตั้ง (มาตรา 31) ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญามีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในการเลือกตั้ง และจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งตามที่ ผอ.การเลือกตั้งประจำ อปท.ร้องขอ
สุดท้าย การดำเนินการหลังการเลือกตั้งในเรื่องของรับแจ้งเหตุการณ์กระทำความผิด ตามมาตรา 92 ในการเรียก รับ หรือยอมรับเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด กกต.มีคำสั่ง ที่ 204/2562 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 มอบหมายให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ในฐานะพนักงานฝ่ายปกครองชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้รับแจ้งเหตุการกระทำความผิด ตามมาตรา 92 ในการเรียก รับ หรือยอมรับเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดถือปฏิบัติแล้ว
“ในการแจ้งเหตุกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่กำหนด กรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ มีเหตุอันควรสงสัยและมีหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่ ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัด ประกาศกำหนดให้แจ้ง ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัดเพื่อดำเนินการต่อไป ตามมาตรา 63 วรรคสี่”