เปิดมติบอร์ดเงินกู้สู้โควิด-19 เบรก ก.เกษตร ขอใช้เงินกู้ 2.4 พันล้าน เยียวยากลุ่มเลี้ยงโคนม แม้ปรับเปลี่ยนชื่อจากโครงการ “แจกนมนักเรียนวันหยุด” วงเงิน 4 พันล้าน พบทั้ง 2 โครงการไม่สอดคล้องวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. แนะโยกไปใช้งบประมาณปกติหรือแหล่งเงินอื่น ส่วนแผนแจกนม เสนอให้ครอบคลุมนักเรียนมัธยมต้น-ส่วนราชการจัดอาหารว่างที่ประชุม-บ้านพักผู้สูงอายุ ลดภาระทางการเงินภาครัฐ
วันนี้ (14 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยเห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ทบทวนการดำเนินโครงการเยียวยาเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผสิตภัณฑ์นมพลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นมของกรมปศุสัตว์ วงเงิน 2,421.2720 ล้านบาท
“เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ พร้อมทั้งนำข้อสังเกตและความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณา ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป”
โครงการดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองฯ เห็นว่า โครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ หลังจากเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2563 กรมปศุสัตว์ได้ เสนอ “โครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนดื่มนมในวันหยุด” วงเงิน 4,072.140 ล้านบาท ให้คณะกรรมการฯ พิจารณา
แต่คณะกรรมการฯ มีมติให้กรมปศุสัตว์พิจารณาทบทวนการดำเนินโครงการฯ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแผนงานที่ 3.1 แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขา เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ
และแผนงานที่ 3.3 แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนรวมถึงการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชน เพื่อให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติได้โดยเร็ว ตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดฯ โดยเห็นควรให้ขอรับการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งเงินอื่นในการดำเนินโครงการฯ
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2563 กรมปศุสัตว์ได้เสนอ “โครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมพลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม” วงเงิน 2,421.2720 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ได้รับการปรับปรุงจากข้อเสนอเมื่อ วันที่ 14 ก.ค.ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง
“กรมปศุสัตว์” บรรยายวัตถุประสงค์โครงการว่า เพื่อเป็นการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจภาคการผลิต ภาคเกษตรกรรม ให้เพิ่มศักยภาพและเพิ่มการผลิตโดยการช่วยเหลือและเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และผู้ประกอบผลิตภัณฑ์นม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมยูเอชทีที่ผลิตไว้ได้
นอกจากนั้นยังเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นและชุมชน เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของเกษตรกรส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงานในธุรกิจ SMEs ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ให้มีศักยภาพและยกระดับการผลิตตลอดห่วงโซ่ การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม
ขณะเดียวกันยังจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ โดยการส่งเสริมให้นักเรียนได้มีการบริโภคนมมากขึ้น ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม สามารถประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง
“กรมปศุสัตว์อ้างว่า ต้องใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 2,421.2720 ล้านบาท ดำเนินการระหว่าง ต.ค.ปีนี้ ถึง ม.ค. 2564 ให้นักเรียนได้มีการบริโภคนม ราคาต่อหน่วย 7.82 บาท/กล่อง แยกตามกลุ่มเป้าหมาย 7,036,945 คน จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 1,799.118 ล้านบาท ให้นักเรียนได้บริโภค 5,228,983 คน ให้กระทรวงสาธารณสุข 534.794 ล้านบาท ให้นักเรียนได้บริโภค 1,554,171 คน ให้ กทม. 83.271 ล้านบาท ให้นักเรียนได้ดื่มนม 242,012 คน และให้เมืองพัทยา 4.019 ล้านบาท นักเรียนจะได้ดื่มนม 11,679 คน และอ้างว่า จะสร้างรายได้หมุนเวียนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ประมาณ 19,000 ครัวเรือน”
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีความเห็นว่าเพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณนมโรงเรียนส่วนเกินซึ่งเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เห็นควรให้กรมปศุสัตว์พิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งเงินอื่น และควรกำหนด กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ ให้มีความครอบคลุมประชาชนกลุ่มอื่นๆ อาทิ เด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และผู้สูงอายุ ซึ่งจะส่งผลให้กระทรวงเกษตรฯ สามารถระบายผลิตภัณฑ์นมได้โดยเร็ว โดยให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตเพื่อประกอบการกำหนดอัตราค่านมโรงเรียนที่รัฐจะช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม
ยังได้เสนอแนวทางเลือกเพิ่มเติม อาทิ การกำหนดโควตาให้ส่วนราชการรับซื้อนมเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดอาหารว่างในการประชุมของส่วนราชการตามความเหมาะสม การเปิดช่องทางให้เอกชนเข้ามารับซื้อเพื่อจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เช่น การแจกนมให้กับบ้านพักผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อลดภาระทางการเงินของภาครัฐ
ส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการ ให้สามารถบริหารจัดการปริมาณน้ำนมได้อย่างเหมาะสมกับปริมาณความต้องการในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาและยกระดับการผลิตของผลิตภัณฑ์นมในอนาคตได้อย่างแท้จริง
คณะกรรมการฯ ยังเห็นว่า การแก้ไขปัญหานมค้างสต๊อกในช่วงโควิด-19 ที่มียอดขายตํ่ากว่าปกติ และผู้ประกอบการฯ ได้แก้ปัญหาโดยนำไปบรรจุเป็นนมยูเอชที ในรูปแบบของนมโรงเรียนแล้ว ทำให้มีข้อจำกัดในการนำไปดำเนินการในรูปแบบอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากการดำเนินโครงการฯ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์พระราชกำหนดฯ ในขณะที่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหานมโรงเรียนดังกล่าว เนื่องจากนมโรงเรียนจะเริ่มทยอยหมดอายุลงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไป จึงเห็นควรให้กรมปศุสัตว์รับไปดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการฯ โดยให้คำนึงถึงคุณภาพของนมโรงเรียนที่จะนำไปจ่ายแจกด้วย เนื่องจากขณะนี้มีนมโรงเรียนที่ใกล้หมดอายุแล้ว
เมื่อต้นเดือน ก.ย. ชุมนุมสหกรณ์โคนมหลายพื้นที่เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศ
ในคราวนั้นตัวแทนจากกรมปศุสัตว์ แจ้งว่า รมว.เกษตรฯ ทราบเรื่องและได้เสนอไปสภาผู้แทนราษฎรในคณะกรรมาธิการ โดยจะเปลี่ยนชื่อจากเดิม “โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน” มาเป็น “โครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมพื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร
กลุ่มเกษตรกรระบุว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้างทำให้อัตราการบริโภคสินค้าต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง สินค้าและการอุปโภคภายในประเทศเกิดการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุดังกล่าวส่งผลให้น้ำนมดิบของเกษตรกรไม่สามารถนำมาแปรรูปในตลาดนมพาณิชย์ เนื่องจากการตลาดการบริโภคนมลดลง 30% แต่น้ำนมดิบของเกษตรกรต้องรีดนมทุกวัน
ขณะเดียวกัน น้ำนมดิบที่เข้าร่วม “โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน” วันละ 1,500 ตัน รวมเป็นน้ำนมดิบ 178,500 ตัน เป็นนมกล่องทั้งหมด 892,500,000 กล่อง คิดมูลค่ากล่องละ 7 บาท เป็นเงิน 6,247,500,000 บาท ช่วงเปิดเทอมในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรได้นำนมกล่องไปจำหน่ายใน “โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน” แล้ว 592,500,000 กล่อง เป็นจำนวนเงิน 4,147,500,000 บาท ส่วนนมกล่องที่เหลืออีก 300,000,000 กล่อง ยังไม่มีที่จำหน่าย จึงอยากให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือให้เด็กดื่มนมวันเสาร์-วันอาทิตย์เพิ่ม เพื่อให้เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรสามารถขายนม 300,000,000 กล่องได้ หากรัฐบาลไม่ช่วยเหลือนมดังกล่าวจะเกิดความเสียหายภายในเดือนมีนาคม 2564