“คณะก้าวหน้า” เปิดตัว 32 ผู้สมัครนายก อบจ.ชุดแรก“ธนาธร” ดึงนโยบายอนาคตใหม่ลงท้องถิ่น ลั่นไม่ซื้อเสียง ไร้ประวัติค้ามนุษย์-ยาเสพติด ไม่โกง หวังดันปฏิรูปราชการ เลิกรวมอำนาจส่วนกลาง หนุนจัดเลือกตั้ง
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่อาคารไทยซัมมิท นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นำทีมเปิดตัวผู้สมัครเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 32 ทีม ภายใต้ยุทธศาสตร์เปลี่ยนประเทศไทย เริ่มได้ที่บ้านเรา พร้อมกล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญ เพราะเป็นการเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารงบประมาณกว่า 800,000 ล้านบาทของท้องถิ่นทั่วประเทศ เฉพาะในระดับ อบจ.เองก็มีงบประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาทแล้ว และเป็นตัวแทนในระดับที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า ส.ส. แต่ที่ผ่านมา การเมืองท้องถิ่นมีข้อครหามากมายเกี่ยวกับการทุจริตและเรื่องของอิทธิพล
นายธนาธร กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ คณะก้าวหน้าจึงตัดสินใจลงมาทำให้การเมืองท้องถิ่นรับใช้ประชาชน โดยยึดแนวทางการทำงานของพรรคอนาคตใหม่เดิม ทั้งการหาเสียงด้วยความคิด นโยบาย ไม่ใช่การซื้อเสียง โดยออกแบบนโยบายภายใต้การยึดอุดมการณ์ คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก แปรนโยบายระดับชาติให้จับต้องได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นแผนการสร้างระบบขนส่งสาธารณะ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การศึกษาท้องถิ่น ฯลฯ รวมทั้งการจัดการปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีเพิ่มการมีส่วนร่วม
“เรามาประกาศความพร้อมของคณะก้าวหน้าในการลงสมัคร อบจ. 32 จังหวัด รวมกับทีมงานเป็น 640 คน ทั้งหมดจะทำงานภายใต้กรอบการทำงาน อันประกอบไปด้วย ความยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย และพร้อมร่วมผลักดันการสร้างประชาธิปไตย, ไม่ซื้อเสียง เอาชนะด้วยนโยบายและการทำงานอย่างจริงจัง, ไม่มีประวัติการค้ามนุษย์หรือค้ายาเสพติด, ไม่ทุจริต ไม่เข้ามามีอำนาจเพื่อตักตวงผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง และที่สำคัญที่สุด คือ พร้อมร่วมการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปรัฐราชการ ยุติการรวมศูนย์อำนาจและทรัพยากรไว้ที่ส่วนกลาง” นายธนาธร กล่าว
โดย 32 ผู้สมัครนายก อบจ.ชุดแรก ประกอบด้วย นายยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ จ.ฉะเชิงเทรา, นายชัยประพันธ์ สิงห์ชัย จ.พะเยา, นายสาธิต ปีติวรา จ.นครราชสีมา, นายศรัญ ฤกษ์อัตกร จ.นครสวรรค์, นายมานพ แสงดำ จ.สุรินทร์, นายณพจน์ศกร ทรัพยสิทธิ จ.นครพนม, นายสุภวัฒน์ ศุภศิริ จ.แพร่, นายสถาพร ว่องสันธพงษ์ จ.ร้อยเอ็ด, นายสุรชัย บุญลือ จ.สิงห์บุรี, นายฤทธิ์ พัวพันธ์ จ.ลพบุรี, นายอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย จ.สมุทรสงคราม, นายวิทูลย์ แก้วสุวรรณ จ.สระบุรี, นายอวยชัย จาตุรพันธ์ จ.สมุทรสาคร, นายพงษ์ศักดิ์ โพธิครุประเสริฐ จ.สุราษฏ์ธานี, นายเชษฐา ไชยสัตย์ จ.อุบลราชธานี,
นายกฤศภณ หล้าวงศา จ.หนองคาย, นายสมเกียรติ เชษฐสุมน จ.หนองบัวลำภู, นายวัสพงศ์ วิทูรเมธา จ.พระนครศรีอยุธยา, นายโยธิน เปาอินทร์ จ.อ่างทอง, นายฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ จ.อุดรธานี, นายปัณณวัฒน์ นาคมูล จ.อุตรดิตถ์, นางภรมน นรการกุมพล จ.ราชบุรี, นายคริษฐ์ ปานเนียม จ.ตาก, นายชัชวาล นันทะสาร จ.นครปฐม, นายไพบูลย์ กิจวรวุฒิ จ.นนทบุรี, นางสว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ จ.ระยอง, นายภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น จ.บึงกาฬ, นายณชพล พลอาสา จ.พิษณุโลก, นางกฤษณ์กมล แพงศรี จ.ปราจีนบุรี, นายสุทธิโชค ทองชุมนุม จ.พังงา, นายณรงค์เดช อุฬารกุล จ.สกลนคร และ นายสุพจน์ สุอริยพงษ์ จ.มุกดาหาร
ต่อมา นายธนาธร ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกระบวนการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ ว่า แม้ตนจะยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้จริงหรือไม่ แต่เท่าที่ดูความเป็นไปได้ตอนนี้ หากการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้จริง จะมีทางเลือกอยู่สองทาง คือ ระหว่างจะเป็นวันที่ 13 หรือ 20 ธ.ค. ซึ่งมีผลทางการเมืองอย่างมาก เพราะวันที่ 13 ธ.ค.เป็นวันหยุดยาวที่ต่อมาจาก 10 ธ.ค. แต่ 20 ธ.ค.ไม่ได้เป็นวันหยุดยาว ถ้ารัฐบาลจัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธ.ค.ประชาชนจะต้องกลับบ้านไปเลือกตั้งท้องถิ่นอีกรอบ รวมกับวันที่ 27 ธ.ค.ซึ่งเป็นช่วงปีใหม่อีก การกำหนดวันเลือกตั้งให้เป็นวันที่ 20 ธ.ค.จึงไม่สมเหตุสมผล ทำให้คนกลับไปเลือกตั้งน้อยลง รัฐบาลควรจะลดภาระในการเดินทางไปเลือกตั้ง ไม่ใช่สร้างอุปสรรค คณะก้าวหน้าจึงเห็นว่าการกำหนดให้เป็นวันที่ 13 ธ.ค.มีความเหมาะสมมากกว่า