xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.ทสส.ลั่นปฏิวัติไม่อยู่ในความคิดทหารปัจจุบัน ชู กม.ปกป้องสถาบันฯ-รักษาความมั่นคง ไม่ต้องมีใครสั่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (แฟ้มภาพ)
“บิ๊กแก้ว” ระบุปฏิวัติไม่ได้อยูในความคิดทหารปัจจุบัน งัด รธน.-กม. กลาโหม ปกป้องสถาบันกษัตริย์-รักษาความมั่นคงเป็นหน้าที่ ไม่ต้องมีใครสั่ง มั่นใจระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่แย่น้อยที่สุด เผย ผบ.เหล่าทัพไม่รับเงินเดือน

วันนี้ (5 ต.ค.) เวลา 12.10 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ถ.แจ้งวัฒนะ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) แถลงภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1/2563 โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงว่า ในที่ประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพได้มีการแสดงความยินดี จากที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยวาระที่ได้หารือเป็นกรอบการทำงานของกองบัญชาการกองทัพไทยร่วมกับเหล่าทัพ แนวทางดังกล่าวเป็นไปตามภาระหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 52 ที่เป็นหน้าที่ของรัฐในการพิทักษ์ รักษา ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดนจึงจัดให้มีกำลังทหาร การทูต การข่าว สืบเนื่องมาเป็น พ.ร.บ.จัดส่วนราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ที่กำหนดบทบาทของกระทรวงกลาโหมว่ามีหน้าที่อะไรบ้าง สอดรับกับหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่โดยตรงที่ทหารต้องปฏิบัติ นอกจากนี้ เป็นนโยบายรัฐบาลที่กำหนดไว้ในการแถลงที่รัฐสภาก่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ลงมาจนถึงนโยบายของ รมว.กลาโหม ตามห้วงเวลา เพื่อนำมากำหนดแนวทางในการดำเนินงานให้สมบูรณ์ในหน้าที่ พร้อมกันนั้นกองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพได้วิเคราะห์บทบาทหน้าที่โดยพิจารณาจากสภาพการณ์ เพื่อพิจารณาและสั่งการการปฏิบัติที่สำค้ญ คือ การดูแลประชาชน และกำลังพลของตนเองให้ได้รับการพัฒนาและความเป็นอยู่ที่ดี

ผบ.ทสส.กล่าวต่อไปว่า กองบัญชาการกองทัพไทยได้แต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นที่ปรึกษาคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพ ตามแนวทางเดิมเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ เพราะท่านเป็นผู้ที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงซึ่งปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดทั้งสองด้าน ทั้งทหาร และตำรวจ

เมื่อถามถึงการปกป้องสถาบันที่มีประชาชนและคนรุ่นใหม่บางส่วนออกมาล่วงละเมิดสถาบัน พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า ในเรื่องของสถาบันและภาระหน้าที่ของทหารได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมาจนถึงปี 2560 มาตรา 52 ระบุว่ารัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย อาณาเขต และอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน โดยรัฐต้องจัดให้มีทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญนี้หมายถึงการมอบหน้าที่ให้รัฐ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องมีทหาร จัดไว้ตามรัฐธรรมนูญกำหนด หรือตามที่กฎหมายกำหนด (2) ให้พิทักษ์รักษาไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนสนับสนุนภารกิจสถาบัน ถือปฏิบัติมาโดยต่อเนื่อง และในส่วนมาตรา 8 ของรัฐธรรนูญบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งองค์จอมทัพไทยที่ข้าราชการทหารมีขวัญกำลังใจและปลาบปลื้มในการปฏิบัติหน้าที่ต่อรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องความนิยมและเป็นประมุขของรัฐที่ทุกรัฐมีเป็นสากล กำลังทหารมีหน้าที่ปกป้องรัฐ ประเทศ และประมุกของรัฐที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร เราจึงใช้คำว่าจอมทัพไทย

เมื่อถามย้ำว่า จะใช้เครื่องมืออะไรของรัฐในการทำความเข้าใจและพูดคุยกับประชาชนที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับสถาบัน พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า ในส่วนข้อมูลข่าวสารประชาชนจะได้รับข้อมูลหลายส่วนในการดำเนินการของเหล่าทัพจะดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญ ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก็ได้กำหนดว่าสามารถมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก สามารถดำเนินการได้เท่าใดขอให้ไปดูบทบัญญัติที่มีเขียนต่อท้ายว่า ไม่กระทบความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประเทศ ส่วนนอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการ

เมื่อถามว่า เหล่าทัพจะสนับสนุนนโยบายรัฐบาลอย่างไร พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า กองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐบาล กรอบการดำเนินการในส่วนของทหารจะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ เช่นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รวมถึงปัญหาต่างๆที่เหล่าทัพปฏิบัติมาต่อเนื่อง และการขับเคลื่อนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี การปฏิรูปประเทศ ที่ทุกส่วนราชการดำเนินการทางทหารก็จะสนับสนุนในส่วนที่เคยปฏิบัติ

เมื่อถามบทบาทกองทัพกับการเมืองจะวางตัวอย่างไร พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องการบริหารประเทศตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ทหารเป็นกลไกของรัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการช่วยเหลือประชาชน ส่วนด้านการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการในส่วนของผู้เกี่ยวข้องกับการเมือง บทบาททหารไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่สิ่งที่อาจจะเกี่ยวพันหรือทาบทับกันคือเรื่องความมั่นคงของรัฐ ที่เป็นหน้าที่โดยตรงของทหาร ซึ่งไม่ต้องมีผู้ใดสั่ง แต่ภาพการปฏิบัติเราอยู่ภายใต้กรอบแนวทางนโยบายรัฐบาลทุกเรื่องรวมถึงเรื่องความมั่นคง

เมื่อถามว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งจะวางตัวอย่างไร โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มี ส.ว. เพื่อให้ผู้มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ของบ้านเมืองมาเป็นหลักดูแล ทั้งด้านกฎหมาย และการดำเนินการต่างๆ เป็นเพียงห้วงเวลาหนึ่ง ทางผู้บัญชาการเหล่าทัพและ ผบ.ตร.ก็เป็น ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ เราไม่สามารถพูดได้ว่ามีความเห็นอย่างไร เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่มีข้อกฎหมายกำหนดไว้ เราปฏิบัติตามภาระหน้าที่ เมื่อเข้ามาเป็น ส.ว.ก็จะได้รับการชี้แจง การดำเนินการปฏิบัติในแต่ละบุคคลไป

เมื่อถามย้ำว่า ผบ.เหล่าทัพได้พูดคุยหรือไม่ว่าจะไม่รับค่าตอบแทน ส.ว. เหมือนอดีต ผบ.เหล่าทัพที่ปฏิบัติมา พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพราะตำแหน่ง ส.ว.กำหนดมาในแต่ละบุคคล เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคนในการพิจารณา แต่ในส่วนของตนไม่รับเงินเดือนในส่วนนี้

เมื่อถามว่าจะจัดเวลาปฏิบัติหน้าที่ ส.ว.อย่างไร พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า ถือเป็นความเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องไปปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่สามารถให้คนอื่นทำแทนได้ และจะให้ความสำคัญในส่วนนี้ โดยภารกิจทั่วไปมอบหมายได้

เมื่อถามว่า ทหารจะทำหน้าที่นอกรัฐธรรมนูญ หรือจะทำปฏิวัติหรือไม่ พล.อ.เฉลิมพลกล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในแนวทางดำเนินการ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเรามีการปกครองระบอบประขาธิปไตย ทหารคือประชาชน ในหน่วยทหารอะไรที่ไม่ใช่การปกครองที่ต้องสั่งการเป็นภารกิจเพื่อการอยู่ร่วมกันเราก็ใช้ประชาธิปไตยในการดูแลความเป็นอยู่ของกำลังพล

“ในส่วนของทหารเรามีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและเชื่อมั่นอย่างที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่แย่น้อยที่สุดในภาพของสังคมโลก เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ได้รับโอกาสและสิทธิต่างๆ ลดความยากลำบาก มีมาตรฐานและคุณภาพชีวิตเพื่อเพิ่มโอกาสเป็นพลเมืองเป็นพบังแผ่นดินกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ เน้นพื้นที่ทุนกันดารห่างไกลยากลำบากที่บางหน่วยงานเข้าไปไม่ถึง จะกระจายสิ่งเหล่านี้ให้ถึงประชาชน การปฏิวัติไม่ได้อยู่ในความคิดของทหารในปัจจุบัน” พล.อ.เฉลิมพลกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ผู้บัญชาการ​เหล่าทัพได้มีการหารือกันแล้วว่าจะไม่ขอรับเงินเดือนตำแหน่ง ส.ว. โดยให้แต่ละคนทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา​ ในขณะที่ พล.อ.เฉลิมพลบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ส่วนของตัวเองจะให้เจ้าหน้าที่ส่งเรื่องไปที่สำนักงานวุฒิสภา ไม่รับเงินเดือน ส.ว.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนแถลงข่าว พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้เดินเข้ามาในห้องแถลงข่าวก่อน ผบ.เหล่าทัพคนอื่น ผู้สื่อข่าวจึงถามว่า หลังการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก วันที่ 6 ต.ค.นี้ จะแถลงทุกเรื่องหรือไม่ พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า ถามได้ทุกเรื่อง แต่อยู่ที่ว่าจะตอบหรือเปล่า


กำลังโหลดความคิดเห็น