xs
xsm
sm
md
lg

ชง ก.ก.ถ.เคาะชดเชย อปท. “ถังแตก” 5.3 หมื่นล. รายได้ลดจากภาษีที่ดินฯ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชง ก.ก.ถ.เคาะชดเชย 5.3 หมื่นล้าน ช่วย 6 พัน อปท. “ถังแตก” เหตุรายได้ลดลง จาก พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ เปิดผลคำนวณทางเลือกคณะทำงานฯ ชงชดเชยรายได้ 3 ปี เฉพาะปี 63 กว่า 3.2 หมื่นล้าน ส่วนปี 64-65 ช่วยอีก 2 หมื่นล้าน แนะใช้ “งบกลางมหาดไทย” พ่วงเงินอุดหนุน สถ. พร้อมทางเลือกดึง “เงินสะสม อปท.” 3 แสนล้าน ประกอบการพิจารณาในการชดเชย เผยข้อมูลถังแตก 2 ส่วน สถ.พบ 6,631 อปท.รายได้ปี 62 ลดลง 1.78 หมื่นล้าน ส่วนข้อมูลของคณะทำงานฯ รายได้ อปท.ลดลง 3.3 หมื่นล้าน

วันนี้ (5 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ เตรียมพิจารณาแนวทางการชดเชยรายได้ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีรายได้ลดลงเนื่องจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

ล่าสุด พบว่าคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ของ อปท.ได้เสนอแนวทางเลือกในการชดเชยให้กับที่ประชุม ก.ก.ถ.พิจารณาตัดสินใจ โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้คำนวณเพื่อใช้วงเงินในการชดเชยรายได้ของปี พ.ศ. 2563 ที่ลดลงจากปี พ.ศ. 2562 ตามที่ สำนักงาน ก.ก.ถ.เสนอ จำนวน 53,341.88 ล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้ในปี พ.ศ. 2564 จำนวน 32,585 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นการคำนวณจากข้อมูลรายได้ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ที่จัดเก็บได้ในปี พ.ศ. 2562 ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) จำนวน 36,527 ล้านบาท หักออกจำนวน 3,942 ล้านบาท ตามที่มีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ ลงเหลือจำนวน 20,756 ล้านบาท โดยให้ชดเชยรายได้ในปี พ.ศ. 2564 และ 2565 ปีละ 10,378 ล้านบาท

“คณะอนุกรรมการฯ ขอความเห็นชอบให้ ก.ก.ถ.พิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาชดเชยรายได้ให้ อปท.ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงิน 53,341 ล้านบาท โดยชดเชยในปี 2563 จำนวน 32,585 ล้านบาท”

ทั้งนี้ เสนอให้กระทรวงมหาดไทยใช้จ่ายจากงบประมาณ พ.ศ. 2564 เงินงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จัดสรรให้ กทม. เมืองพัทยา เทศบาล และ อบต.ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ แทนภาษีโรงเรือนและที่ดืน และภาษีบำรุงท้องที่ หรือแหล่งอื่นตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ ในการชดเชยปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และ 2565 ปีละจำนวน 10,378 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 20,756 ล้านบาทนั้น เสนอให้มหาดไทย โดย สถ.เสนอตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ตามที่ได้รับผลกระทบ และให้ กทม. รวมถึงเมืองพัทยา เสนอตั้งบประมาณอุดหนุนชดเชย สำหรับจัดสรรงบประมาณเพื่อลดผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง

“นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอทางเลือกให้ อปท.สามารถนำเงินสะสม แต่ละแห่งรวมกว่า 3 แสนล้านบาท มาประกอบการพิจารณาในการชดเชยรายได้ได้ด้วย”

มีรายงานว่า ที่ผ่านมาการพิจารณาร่างงบปบระมาณรายจ่าย พ.ศ. 2564 ของสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก ไม่มีการตั้งงบประมาณรายการอุดหนุนเพื่อชดเชยดังกล่าวไว้แต่อย่างใด

ขณะที่ในขั้นกรรมาธิการฯ ได้เห็นชอบแปรญัติเพิ่มเติม อุดหนุนให้เทศบาลตำบล และ อบต.จำนวน 5,934 แห่ง จำนวนเงิน 10,067.59 ล้านบาท

สำหรับข้อมูลประมาณการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปีงบ 2563 เปรียบเทียบกับภาษีโรงเรือนที่ดินและส่งปลูกสร้าง และภาษีบำรุงท้องที่ของ สถ.พบว่า อปท.6,631 แห่ง มีรายได้รวมลดลง 17,863,881,224 บาท โดยเทศบาลนคร มีรายได้ลดลง 2,127,605,026 บาท เทศบาลเมือง ลดลง 2,108,723,389 บาท เทศบาลตำบล ลดลง 2,830,069,430 บาท อบต.ลดลง 2,874,719,113 บาท กทม. ลดลง 7,66,581,337 บาท และ เมืองพัทยา 262,182,929 บาท

ขณะที่ข้อมูลของคณะทำงาน รศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ กรรมการ ก.ก.ถ.พบว่า ปี 2562 อปท.มีรายได้จากภาษีที่ดินฯ 36,527.36 ล้านบาท เมื่อมี พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ จัดเก็บได้เพียง 3,176.53 ล้านบาท ทำให้ อปท.มีรายได้ลดลง 33,350.83 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น