xs
xsm
sm
md
lg

ใครๆ ก็ไม่รัก? แฉ มธ.ห้าม “รุ้ง-เพนกวิน-อานนท์” ขึ้นเวที 44 ปี “6 ตุลา” “หมอวรงค์” ซัด ชุมนุม “14 ตุลา” ทำเสื่อม!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ สองคน(กลาง) รุ้ง และ เพนกวิน ที่ผู้บริหาร มธ. สั่งห้ามขึ้นเวที จากแฟ้ม
ผู้จัดรำลึก 44 ปี “6 ตุลา” แฉผู้บริหาร มธ. สั่งห้าม “รุ้ง-เพนกวิน-อานนท์” ขึ้นเวที อ้าง “ไม่สบายใจ” ก่อนจวกเละ “ทัศนะ มุมมอง ขี้ขลาด” “หมอวรงค์” ยก 5 เหตุผล ชี้ชุมนุม “14 ตุลา” ทำประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนเสื่อมลง

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (3 ต.ค. 63) เฟซบุ๊ก Krisadang-Pawadee Nutcharus ของ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนและศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะผู้จัดงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา 19 โพสต์ข้อความระบุว่า

“ผมมีเรื่องน่าเสียใจเกี่ยวกับงานครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 19 ซึ่งจัดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงนี้แจ้งให้ทราบ
เมื่อวานนี้ ผมได้รับแจ้งว่า ผู้บริหารธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้น้องเพนกวิน (นายพริษฐ์ ชิวารักษ์) และ น้องรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ซึ่งเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์และทนายอานนท์ (อานนท์ นำภา) ซึ่งเป็นทนายสิทธิมนุษยชน มาร่วมเสวนาในงานนี้บนเวทีหอประชุมศรีบูรพา ตามกำหนดที่คณะกรรมการได้เตรียมไว้

ผู้บริหารธรรมศาสตร์ ให้เหตุผลสั้นๆ ว่า ไม่สบายใจ โดยไม่อธิบายอะไร แถมยังสั่งว่า หากไม่ตัดทั้งสามคนนี้ออกจะไม่ยอมให้มีการแสดงบนเวทีทั้งหมดในงานนี้

ภาพ อานนท์ นำภา หนึ่งในสาม ที่ถูกห้ามขึ้นเวที จากแฟ้ม
ผมต้องขอโทษต่อประชาชนและสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศ ทุกสาขาที่เคยแจ้งว่า เพนกวิน รุ้ง และ ทนายอานนท์ จะมาแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ 6 ตุลา ในทัศนะของคนรุ่นใหม่และการเมืองไทยในมุมมองของเยาวชน

ผมขอเสียใจที่จะแจ้งให้ทราบว่า เราจะไม่ได้ฟังคนทั้งสามพูดอีกแล้วในธรรมศาสตร์

ข้อความต่อไปนี้ ผม นายกฤษฎางค์ นุตจรัส กรรมการจัดงานปีนี้ที่ธรรมศาสตร์แต่งตั้ง ขอรับผิดชอบในความเห็นที่จะแสดงต่อไป
เป็นอีกครั้งที่ทำให้เราเข้าใจทัศนะ มุมมอง ความขี้ขลาด หรือความกล้าหาญของผู้บริหาร

เราจัดงานรำลึก 6 ตุลา 19 ทุกปี เพราะเราเชื่อมั่นว่า วีรชนคนหนุ่มสาวที่เสียสละชีวิตไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น อุทิศร่างกายของตนเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ฆาตกรผู้ก่ออาชญากรรมต่อพวกเขาก็เพียงเพราะเขามีความคิดที่แตกต่างออกไปจากพวกมันเท่านั้น

ที่สำคัญ เราจัดงาน 6 ตุลา 19 เพราะเราเรียกร้องให้สังคมไทยในปัจจุบันรับฟังความเห็นที่แตกต่างกันมิใช่หรือ

ไม่ว่าน้องทั้งสามจะมีความคิดเห็นอย่างไร ทำไมเราไม่รับฟังเขา หรือคุณกลัวที่จะฟังในสิ่งที่เขาพูด

ถ้าในทางกลับกันในงานนี้ เชิญ แก้วสรร อติโพธิ หรือ วรงค์ เดชกิจวิกรม มาพูดในงานนี้ ผมเชื่อมั่นว่า ผู้บริหารคงมีความสบายใจกระมัง

ท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เมื่อคราวก่อการปฏิวัติ 2475 ก็มีความเห็นพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินใช่ไหม ในเวลานั้นท่านก็มีอายุเพียงสามสิบปีเศษ การตั้งธรรมศาสตร์ก็เพื่อเป็นหลักคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของราษฎรทั่วไปใช่หรือไม่

การสั่งห้ามน้องทั้งสามมาพูดในงาน 6 ตุลาปีนี้ เป็นสิ่งที่ผมไม่มีทางจะรับได้

แม้ผู้บริหารอาจจะดีใจที่สามารถทำตามคำสั่งของนายได้ แต่ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้แล้ว ว่า ในวันเวลานี้ท่านได้ทำอะไรไป ท่านไม่อาจลบมันออกจากส่วนหนึ่งของงานรำลึก 6 ตุลา 19 ได้ ถ้าเปรียบก็เป็นเหมือนท็อปบู๊ตที่เหยียบย่ำไปบนร่างกายของวีรชน 6 ตุลาในวันนั้น

เรื่องในวันนี้ช่างประจวบเหมาะกับกรณีครึกโครมที่โรงเรียนอนุบาลเอกชนดัง มีครูเอาถุงขยะดำครอบหัวน้องนักเรียนเพื่อสั่งสอนให้กลัว และเชื่อในสิ่งที่ครูสั่ง

ผมนึกไม่ถึงว่า ในวันที่เราจัดครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 19 ผู้บริหารธรรมศาสตร์ยังวิ่งไล่เอาถุงขยะดำครอบหัวนักศึกษาอยู่”

ภาพ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี โพสต์หัวข้อ “#อย่าทำให้เจตนารมณ์ 14 ตุลาเสียหาย”

โดยระบุว่า “น้องๆ ม็อบปลดแอก คงเกิดไม่ทัน 14 ตุลาคม 2516 จึงคิดจัดชุมนุม 14 ตุลาคมนี้ แต่สิ่งที่น้องๆ จัดชุมนุม เทียบกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มันคนละเรื่อง เพราะ

1. เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเหตุการณ์ที่นิสิต นักศึกษาและประชาชน ออกมาต่อสู้กับเผด็จการทหาร ภายใต้การนำของจอมพลถนอม-ประภาส และเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่การชุมนุมครั้งนี้ จงใจต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์แบบเบิ้มๆ

2. เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นิสิต นักศึกษา และประชาชน มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งประเทศ แต่การชุมนุมที่จะเกิด ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่

3. ในเหตุการณ์จริงของ 14 ตุลาคมนั้น มีนักศึกษาที่บริสุทธิ์เป็นแกนนำจริงๆ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่ครั้งนี้ แกนนำเป็นคนใกล้ชิดพรรคการเมือง

4. การชุมนุม 14 ตุลาคมในอดีต เป็นบรรยากาศที่เผด็จการจริง แต่ตอนนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เพียงแต่ฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังนักศึกษา แพ้แล้วไม่รู้จักคำว่าแพ้

5. ผู้ชุมนุม 14 ตุลาในยุคก่อน ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การชุมนุม 14 ตุลาครั้งนี้ ต้องการล้มล้างการปกครองเพื่อเป็น ระบอบสาธารณรัฐ

นี่คือ ความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงของการชุมนุม จึงอยากเรียกร้อง #อย่าทำให้เจตนารมณ์ 14 ตุลาเสียหาย ที่สำคัญ น้องๆ จะทำให้ความรู้สึกดีๆ ของประชาชนต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เสื่อมลง ทางที่ดีควรเปลี่ยนวันนัดชุมนุม”

ภาพ จากเฟซบุ๊กส่วนตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์
ทั้งนี้ วันนี้เช่นกัน เฟซบุ๊ก เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak โพสต์หัวข้อ “ประกาศคณะราษฎร”

เนื้อหาระบุว่า “ขอให้พี่น้องราษฎรทุกหมู่เหล่ามารวมตัวกันชุมนุมเพื่อขับไล่เผด็จการโดยพร้อมเพรียงกันในวันที่ 14 ตุลาคม ณ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป

ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ!”

แน่นอน, สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจและเห็นใจ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือ การยอมให้ธรรมศาสตร์ เป็นเครื่องมือทางการเมือง ของนักการเมืองบางกลุ่มที่อยู่เบื้องหลัง 3 แกนนำ เพนกวิน รุ้ง และ อานนท์ ไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นเครื่องมือ เพื่อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ด้วยท่าทีจาบจ้วงดูหมิ่น จนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ลำบากใจที่จะรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย

และที่สำคัญ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คงจะมีบทเรียนมาแล้วว่า การพูดบนเวที ของทั้ง 3 คนนั้น มีท่าทีจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง อย่างท้าทายมาตลอด ดังนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงคิดว่า กันเอาไว้ก่อน ดีกว่ามาแก้ไขในภายหลังจะดีกว่า?

ส่วน ประเด็นของ “หมอวรงค์” เชื่อว่า มีความเห็นออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง อาจหนุนหลังนักศึกษา ที่ต้องการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลา เพราะต้องการเอาฤกษ์งามยามดี เอาความขลังของวันนี้มาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้...

อีกส่วน อาจเห็นด้วยกับ “หมอวรงค์” ที่ต้องการให้วันที่ “14 ตุลา” เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของพลังบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ไม่มีนักการเมืองบางกลุ่ม หรือ หลายกลุ่มแอบแฝงหนุนหลัง ที่สำคัญ เป็นการต่อสู้กับสถาบันหลักที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพเทิดทูน เพียงเพราะกลุ่มคนที่หนุนหลังต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นี่คือ ความเสื่อม ที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้น

แต่เหนืออื่นใด ทุกฝ่ายพึงระลึกอยู่เสมอว่า การชุมนุมถือเป็นการแสดงออกในการเรียกร้องทางการเมือง เพื่อให้กลไกแก้ปัญหาได้รับรู้ รับทราบ และร่วมกันหาทางออกผ่านรัฐสภา ซึ่งเป็นอำนาจของประชาชน

ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ หรือไม่จริง? ดังนั้น การช่วยกันรักษาสถานการณ์เอาไว้ แค่การเรียกร้อง ไม่ใช่ “ต่อสู้” สถานการณ์ก็จะไม่เลยธง หรือ บานปลายกลายเป็นความรุนแรงไปได้ นี่ต่างหาก คือ ประชาธิปไตยที่แท้จริง นอกเหนือไปจากนี้ เอาประชาธิปไตยมาเป็นข้ออ้างดีๆ นี่เอง


กำลังโหลดความคิดเห็น