วันที่ 14 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ บุษกร วัชรศรีโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านวิชาการ นายอัครวัฒน์ อัศวเหม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เยี่ยมชมและให้กำลังใจผู้เข้าฝึกอบรมกว่า 100 คน เป็นนักเรียนอาชีวะ ระดับ ปวส.2 สาขาช่างยนต์ จำนวน 64 คน และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์อีก 50 คน เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ
รมช.แรงงาน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทักษะแก่กำลังแรงงานของประเทศ เพื่อให้มีศักยภาพได้มาตรฐาน และได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือด้วย ซึ่งจะมีส่วนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของตนเองภายใต้แนวคิด สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ สำหรับการลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ให้แก่กลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษา ระดับ ปวส.2 สาขาช่างยนต์ จำนวน 64 คน ที่เข้าฝึกอบรมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในครั้งนี้ เป็นการสร้างแรงงานฝีมือให้มีคุณภาพได้มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ถึงแม้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ต้องหยุดหรือเลิกกิจการไปก็ตาม แต่สถานประกอบกิจการในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ยังคงต้องดำเนินการต่อ เพราะยังมีการใช้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่ง
รมช.แรงงานกล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีความต้องการแรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาทำงาน การพัฒนาทักษะฝีมือให้กับแรงงานใหม่ในกลุ่มของนักเรียนอาชีวศึกษาชั้นปีสุดท้าย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงเป็นหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่ต้องเติมทักษะให้สามารถทำงานได้จริง ฝึกปฏิบัติมากขึ้น พร้อมกับฝึกประสบการณ์ทำงานในสถานประกอบกิจการ โดยต้องบูรณาการร่วมกันกับภาคเอกชน ด้วยเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัย เพื่อให้แรงงานใหม่กลุ่มนี้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่และเมื่อต้องไปทำงาน จะได้สามารถทำงานกับเทคโนโลยีเหล่านั้นได้ เช่น การทำงานกับเครื่องยนต์อัตโนมัติ การควบคุมหุ่นยนต์ และความรู้อื่นๆ ที่จำเป็นในงานอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น จากการสอบถามข้อมูล พบว่า นักเรียนอาชีวะกลุ่มนี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานในงานอุตสาหกรรมและฝึกปฏิบัติการกลึงและกัดชิ้นงานด้วย เครื่อง CNC ระยะเวลาการฝึก 102 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 18 กันยายน 2563 นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์อีก 50 คน ซึ่งสถานประกอบกิจการส่งมาฝึกทักษะด้านระบบควบคุมคุณภาพ ISO 9001 และระบบไฟฟ้าและรีเลย์ เพื่อยกระดับฝีมือ โดยมีระยะเวลาฝึกอบรม 30 ชั่วโมง
หลังจากนั้น รมช.แรงงาน และคณะ ได้ชมการฝึกซ้อมและให้กำลังใจเยาวชนไทยที่เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานระดับอาเซียน และนานาชาติ สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึงและเครื่องกัด) และสาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น โดยในปี 2564 จะมีการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 6-11 เมษายน 2564 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และการแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ ครั้งที่ 46 จะจัดขึ้นนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน จึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนที่จะต้องเดินทางไปแข่งขัน ได้ฝึกฝนฝีมือเพื่อให้เกิดความชำนาญและเรียนรู้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศด้วย ซึ่งประเทศไทยส่งเยาวชนเข้าแข่งขัน ในระดับอาเซียน จำนวน 6 สาขา ประกอบด้วย 1. บริการอาหารและเครื่องดื่ม 2. ประกอบอาหาร 3. เทคโนโลยีระบบทำความเย็น 4. แต่งผม 5. หุ่นยนต์เคลื่อนที่ และ 6. เทคโนโลยียานยนต์
“การแข่งขันฝีมือแรงงานทั้งระดับชาติ ระดับอาเซียน และระดับนานาชาติ จะเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนไทยได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะเป็นโอกาสในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศและการทำงานในอนาคต ตัวแทนส่วนใหญ่มาจากเด็กอาชีวะที่มีพื้นฐานจากสถาบันการศึกษาอยู่แล้ว มาเพิ่มทักษะฝีมือกับ กพร. และหน่วยงานภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนฝึกภาคปฏิบัติ ถือเป็นการทำงานร่วมกันแบบประชารัฐ จึงเกิดแรงงานที่มีคุณภาพอย่างชัดเจน” รมช.แรงงานกล่าวทิ้งท้าย