รมช.แรงงานมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมด้านโลจิสติกส์ 332 คน ยันพร้อมส่งมอบแรงงาน ป.ตรี มีคุณภาพให้แก่สถานประกอบกิจการ การันตีฝึกจบมีงานรองรับ 100 เปอร์เซ็นต์
วันที่ 10 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาทิศทางการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์และส่งมอบแรงงานคุณภาพระดับปริญญาตรีในอุตสาหกรรมธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ และมอบวุฒิบัตรผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 322 คน โดยมีนายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบกิจการด้านโลจิสติกส์ สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถานประกอบกิจการด้านโลจิสติกส์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธีมอบวุฒิบัตร ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก ดินแดง กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ นฤมลกล่าวว่า รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นกลไกที่ส่งผ่านมูลค่าของสินค้าและบริการจากผู้ผลิตไปยังผู้รับหรือผู้บริโภค ดังนั้น ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งนี้ การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ต้องอาศัยการดำเนินการลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานใหม่ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีให้มีงานทำและมีรายได้ที่มั่นคง
รมช.แรงงานกล่าวต่อว่า บัณฑิตที่จบการศึกษาใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะมีการพัฒนาสมรรถนะให้สอดคล้องกับการทำงานจริง สามารถทำงานได้ทันที และการันตีการมีงานทำ ผู้ประกอบกิจการได้รับประโยชน์จากการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และยกระดับฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถานประกอบกิจการอย่างเป็นรูปธรรม โมเดลความร่วมมือนี้จะมีส่วนทำให้ผู้ที่จบปริญญาตรีที่ผ่านการฝึกอบรมจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีงานทำ มีรายได้ สามารถแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาผู้จบปริญญาตรีตกงานได้เป็นอย่างดี และใช้เป็นต้นแบบในการนำไปปฏิบัติด้านการพัฒนาทักษะฝีมือที่ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบกิจการ และส่งผลถึงภาพรวมการผลิตแรงงานคุณภาพป้อนอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป
นายธวัช เบญจาทิกุล กล่าวเสริมว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ร่วมมือกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร ธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ให้กับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ว่างงานและมีความประสงค์ต้องการทำงานด้านโลจิสติกส์ โดยพัฒนาทักษะและคุณลักษณะให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบกิจการ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการแก้ไขปัญหาบัณฑิตตกงาน และส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมมีงานทำภายหลังจบการฝึกอบรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งในปี 2563 มีผู้ผ่านการอบรมรวม 332 คน โดยบริษัทในเครือของสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) รับเข้าทำงานแล้ว 57 คน อีก 47 คนอยู่ระหว่างการสัมภาษณ์รับเข้าทำงานเพื่อให้ตรงกับความรู้ความสามารถ และอีก 218 คนส่งมอบให้แก่สถานประกอบกิจการรับเข้าฝึกงาน (ฝึกภาคปฏิบัติ) ระยะเวลา 2 เดือน และจากสถิติที่ผ่านมา ผู้ที่ผ่านการฝึกทุกคนมีงานทำ 100 เปอร์เซ็นต์