xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดกลั่นกรองเมกะโปรเจกต์น้ำชุดใหญ่ เตรียมเคาะ 11 โครงการ 4.4 หมื่นล. สูบน้ำปัตตานี 1.2 พันล.-แก้น้ำท่วมพัทยา 1.7 หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะกลั่นกรอง “เมกะโปรเจกต์น้ำ” ชุดใหญ่ เตรียมเคาะ 11 โครงการสำคัญ วงเงินรวม 4.4 หมื่นล้าน ก่อนชงนายกรัฐมนตรี หลังอนุกลั่นกรองน้ำ ชุดรองฯ ประวิตร ไฟเขียวเบื้องต้น 6 หน่วยงาน จาก 557 โครงการ พบเทศบาลนครนครราชสีมาชงสร้าง “ระบบจัดหาน้ำดิบ” 1.3 พันล้านบาท กทม.ผุดเขื่อนคลองพระยาราชมนตรี 1.9 พันล้าน ดัน “สถานีสูบนํ้าดิบหนองจิก” 1.2 พันล้าน รองรับเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรม จ.ปัตตานี ส่วน “เมืองพัทยา” ดันแผน 10 ปี 1.7 หมื่นล้าน แก้ปัญหาน้ำท่วมชุมชนเมืองพัทยา ด้านอีอีซีพ่วง 6 โครงการ 2 หมื่นล้าน สุดท้ายอ่างเก็บนํ้าแม่ตาช้าง จ.เชียงราย 1.1 พันล้าน

วันนี้ (4 ก.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในวันที่ 9 ก.ย.นี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานกลั่นกรองโครงการขนาดใหญ่และโครงการที่สำคัญ เชิญคณะทำงานร่วมพิจารณาโครงการฯ ครั้งที่ 4/2563 โดยจะมีการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ เพื่อเตรียมเสนอที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเร็วๆ นี้ หลังจากคณะอนุกรรมการฯ ชุดที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการไปแล้ว นอกจากนี้จะรับทราบความก้าวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากรพระราชดำริ เพิ่มเติมจากจำนวน 178 โครงการ

สำหรับโครงการ 11 โครงการ ใน 6 หน่วยงาน (ข้อมูลโครงการ ณ วันที่ 14 ส.ค. 2563) ที่ผ่านความเห็นชอบจาก 557 โครงการ ที่ผ่าน กนช. ประกอบด้วย เทศบาลนครนครราชสีมา, กทม., จ.ปัตตานี, เมืองพัทยา, เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC (กรมชลประทาน และการประปาส่วนภูมิภาค) และกรมชลประทาน วงเงินรวมโครงการ 44,431 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. เทศบาลนครนครราชสีมา “โครงการจัดหานํ้าดิบเพื่อผลิตน้ำประปา ที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่าจากแหล่งน้ำลำตะคองมายังโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า” เพื่อปรับปรุงระบบส่งท่อน้ำดิบ ได้ไม่น้อยกว่า 1 แสน ลบ.ม./วัน ประกอบด้วย ก่อสร้างอาคารรับน้ำดิบจากลำตะคอง บริเวณหน้าเขื่อนระบายน้ำมะเกลือใหม่ และวางท่อ 1,200 มม. จากอาคารวางมาตามแนวคลองชลประทาน ความยาว 34.23 กม.

วางท่อ 1,200 มม.จากอาคารรับน้ำมาเชื่อมประสานกับท่อขนาด 900 มม. เดิมบนถนนมิตรภาพ ความยาว 1.63 กม. รวมถึงงานจ้างที่ปรึกษา ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี พ.ศ. 2564 ระยะเวลาก่อสร้าง 365 วัน (12 เดือน) งบประมาณดำเนินงาน 1,344,814,000 บาท (ค่าก่อสร้างและจ้างที่ปรึกษา) จากเงินอุดหนุนรัฐบาล 80% และงบประมาณเงินเทศบาลฯ 20%

2. กรุงเทพมหานคร “โครงการเขื่อน ค.ศ.ล. คลองพระยาราชมนตรี (บางบอน-คลองหนองใหญ่ คลองภาษีเจริญ-คลองบางเชือกหนัง)” เพื่อสนับสนุนโครงการแก้มลิง คลองมหาชัย-คลองสนามชัย และช่วยแก้ไขปัญหานํ้าท่วมขังในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ตลอดจนรองรับการเจริญเติบโตของเมืองและชุมชนในอนาคต ค่าก่อสร้าง 1,950 ล้านบาท เงินอุดหนุนรัฐบาล 50% และงบประมาณกรุงเทพมหานคร 50%

3. จังหวัดปัตตานี “โครงการสถานีสูบนํ้าดิบพร้อมระบบท่อส่งนํ้าเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนใต้ ให้พื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าเพื่อสนอง ตามนโยบาย จ.ปัตตานี โครงการนี้กรมชลประทานเตรียมความพร้อมศึกษา สำรวจ ออกแบบ ก่อสร้างสถานีพร้อมระบบท่อส่งนํ้า โดยออกแบบและดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ วงเงิน 1,230 ล้านบาท พร้อมดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2565 โดยโครงการถูกเสนอเป็นโครงการสำคัญ จากการประชุมคณะการลุ่มนํ้าปัตตานี

4. เมืองพัทยา “ระบบป้องกันน่าท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี” ตามแผนดำเนินการออกแบบให้รองรับน้ำฝนได้ 128 มม.ต่อวัน แบ่งพื้นที่ย่อยเป็น 3 กลุ่มพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย, ออกแบบโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายนํ้าของระบบเดิม ก่อสร้างท่อระบายนํ้าขนาดใหญ่เพิ่ม และระบายผ่านคลองธรรมชาติ ดำเนินการก่อนระยะ 10 ปี วงเงิน 17,885 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ปรับปรุงระบบระบายน้ำ ความยาวรวม 31.37 กม. วงเงิน 3,721 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 ความยาวรวม 9.94 กม. วงเงิน 1,735 ล้านบาท กลุ่มที่ 3 ความยาวรวม 15.08 กม. วงเงิน 5,383 ล้านบาท กลุ่มที่ 4 ความยาวรวม 9.43 กม. วงเงิน 4,126 ล้านบาท กลุ่มที่ 5 ความยาวรวม 10.82 กม. วงเงิน 2,918 ล้านบาท

5. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC จำนวน 6 โครงการ (ชลประทาน และการประปาส่วนภูมิภาค) ได้แก่ ผันนํ้าอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ จ.ชลบุรี วงเงิน 9,500 ล้านบาท เร่งรัดให้เสร็จปี 2570, โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา ความจุ 27.5 ล้าน ลบ.ม. วงเงิน 2,770 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 770 ล้านบาท ค่าที่ดิน 2,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 4 ปี (ปี 2565-2568) ออกแบบและดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว

โครงการอ่างเก็บนํ้าหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ความจุ 15 ล้าน ลบ.ม. วงเงิน 1,350 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 550 ล้านบาท ค่าที่ดิน 800 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 4 ปี (ปี 2565-2568) ออกแบบและดำเนินการ ด้านสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ, โครงการอ่างเก็บนํ้าคลองโพล้ จ.ระยอง ความจุ 40 ล้าน ลบ.ม. วงเงิน 3,250 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 950 ล้านบาท ค่าที่ดิน 2,300 ล้านบาท)

ปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาพัทยา-แหลมฉบัง-ศรีราชา (รองรับ EEC) จ.ชลบุรี วงเงิน 1,849 ล้านบาท และปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาชลบุรี-พนัสนิคม-(พานทอง)-(ท่าบุญมี) ระยะที่ 2 (รองรับ EEC) จ.ชลบุรี วงเงิน 2,126 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 3 ปี โครงการบริหารจัดการลดนํ้าสูญเสีย มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 4 ปี สัดส่วนการลงทุน เงินอุดหนุนรัฐบาล 6% : เงินกู้ภายในประเทศ 20% : เงินรายได้ กปภ.20%

6. กรมชลประทาน “โครงการอ่างเก็บนํ้าแม่ตาช้าง จ.เชียงราย” ความจุ 32 ล้าน ลบ.ม. วงเงินงบประมาณ 1,177 ล้านบาท (ค่าสิ่งก่อสร้าง 847 ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดิน 330 ล้านบาท) แผนงานโครงการ 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2568) อยู่ระหว่างออกแบบทำนบดินหัวงาน และอาคารประกอบ (90%)


กำลังโหลดความคิดเห็น