“บิ๊กป๊อก” แก้ปม อปท.อ้างถังแตก สั่งจังหวัดตรวจสอบละเอียดยิบ! ระบบบัญชีเงินฝากท้องถิ่นทั่วประเทศ เน้นความถูกต้องบัญชีเงินฝาก ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์-ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ-ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐ พร้อมกำชับการปฏิบัติงาน “ระดับผู้บริหาร-ปลัด-จนท.งบประมาณ-หน.คลัง อปท.” อย่าให้เกิดการทุจริต
วันนี้ (2 ก.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด แจ้งนายอำเภอในพื้นที่ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบระบบบัญชีเงินฝากขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายหลัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย สั่งการให้ สถ. ตรวจสอบความถูกต้องของระบบบัญชีเงินฝากของ อปท.ทุกแห่งและกำชับการปฏิบัติงาน ของ อปท.อย่าให้เกิดการทุจริต
หนังสือฉบับนี้ ที่ลงนามโดย นายประยูรณ์ รัตนเสนีย์ อธิบดี สถ. ระบุถึงการขอความร่วมมือให้จังหวัดกำกับดูแล ผู้บริหารท้องถิ่น ปลัด อปท. โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่งบประมาณ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันในการควบคุมงบประมาณรายจ่ายและเงินนอกงบประมาณ
“กำชับให้ หัวหน้าหน่วยงานคลัง ควบคุมการรับและการเบิกจ่ายเงิน บัญชี รายงานและเอกสารอื่นเกี่ยวกับการรับจ่ายเงิน และหนี้ รวมทั้งตรวจเอกสารการรับจ่ายเงิน การขอเบิกเงิน การก่อหนี้ผูกพัน และการปฏิบัติงานในระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ เช่น ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ของ อปท. (e-LAAS) ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) เป็นต้น ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย”
ทั้งนี้ ให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ตรวจสอบการจัดทำบัญชีและรายงาน การเงินของ อปท. รวมทั้งติดตาม และให้คำปรึกษา แนะนำ เกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของ อปท. และหากมีกรณีร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบ ให้ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเร็ว
ตลอดสัปดาห์ที่แล้ว ผู้บริหาร อปท.หลายแห่ง แสดงความเห็นต่อ หนังสือ “ด่วนที่สุด” ของกระทรวงมหาดไทย เรื่องแนวทางปฏิบัติ ขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีและการคัดค้านการประเมินภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 หลังกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษีภายในเดือน ส.ค. 2563 และผ่อนชำระ 3 งวดได้ในเดือน ส.ค.-ต.ค. 2563
โดยเฉพาะ กรณีกลายแห่งยอมรับว่า รายได้ของอปท.หลายแห่ง ถึงขั้น “ถังแตก” โดยได้รับผลกระทบทั้งประเทศ จากที่ตั้งเป้าจะเก็บภาษีเหลือส่วนที่เก็บได้เพียง 10% เท่านั้น ทำให้โครงการที่ต้องพัฒนาไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องชะลอโครงการถึง 80-90% และบางแห่งเสนอขอใช้ “เงินสะสม อปท.” มาใช้จ่ายในโครงการเหล่านั้นด้วย ขณะที่หลายท้องถิ่นประเมินว่า จะกระทบถึงปี 2564
“นอกจากงานพัฒนาต่างๆ ที่ต้องหยุดโครงการ อปท.บางแห่งมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินเดือน โดยเฉพาะ “เทศบาลทั่วประเทศ” ซึ่งเทศบาลหลายแห่ง ทำเรื่องขอความช่วยเหลือไปยัง สถ. เพื่อนำเรื่องส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว เพื่อให้รัฐบาลช่วยชดเชยจำนวนเงินที่หายไป”
ขณะที่บาง อบต.และ เทศบาล กำลังประสบปัญหาสถานการเงิน โดยมีความเห็นคล้ายๆ กัน ว่า หากไม่มีเงินสำรอง อาจจะต้องมีการปลดพนักงาน หรือชะลอการรับโอนข้าราชการ ในปีงบประมาณ 2564 จะประสบปัญหามาก เพราะเงินรายได้จะหายไปมา เฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับนมโรงเรียน และอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ที่ได้รับงบประมาณจากสำนักงบประมาณ ขาดไปหายร้อยละ 20-40 จากช่วงโควิดโรงเรียนหยุด” รายงานข่าวระบุ