“ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมมอบนโยบาย ศบศ. ย้ำรัฐบาลมุ่งช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ พร้อมฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมั่นคง ชูประเทศติดอันดับ 1 น่าลงทุน-คุมโควิด ถ้า ปชช.ร่วมไทยสร้างชาติจะแก้ปัญหาได้
วันนี้ (2 ก.ย.) เวลา 09.00 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ... ตามที่ กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนพัสดุประเภทใดเป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีแนวทางปฏิบัติสามารถจัดจ้างได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเพื่อสนองตอบต่อนโยบายภาครัฐด้วย โดยมีความเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมหรือสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) พัสดุและเหล็กที่ผลิตในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวได้ทันทีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายในการประชุมเพื่อพิจารณามาตรการในการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจเพื่อนำเรื่องเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรีในโอกาสแรก
สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แจ้งที่ประชุมเพื่อทราบเรื่องการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมและคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ ได้แก่ ผู้แทนสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ผู้แทนประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพิ่มเติมภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน 2. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการ บริหารเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาว และ 3. คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา และในโอกาสนี้ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แจ้งที่ประชุมเกี่ยวกับภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ของโลก และภาวะเศรษฐกิจโลก ตลอดจนสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีตัวเลขสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้สร้างการรับรู้เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เสนอความคืบหน้าโครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง ซึ่งเป็นโครงการเพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้โดยรวม และลดระยะเวลาติดต่อเจ้าหนี้หลายราย แก้ไขปรับโครงสร้างหนี้เดิม และให้สินเชื่อใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางแก่ที่ประชุม เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงครบถ้วน รวมทั้งให้ความสำคัญแก่ประชาชนรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อน โดยอาจเพิ่มคำแนะนำ ช่องทางการช่วยเหลือ
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินโครงการเที่ยวปันสุข แพ็กเกจ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งจะเพิ่มเติมการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และการศึกษาเพื่อส่งต่อไปในระยะที่สองหากพิจารณาเปิดการท่องเที่ยวให้กับต่างชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางการทำงานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม ฟังเสียงสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ และอาจพิจารณากลุ่มคนที่ต้องการท่องเที่ยวแบบฟื้นฟูซึ่งจะใช้เวลานานครอบคลุมช่วงเวลากักตัว 14 วัน ในประเทศไทย
กระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ซึ่งเป็นโครงการระยะสั้น 1 ปี โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ศึกษาโครงสร้างผู้ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน และว่างงานเพื่อพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป
โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในการทำงานแก่ทุกส่วนว่า รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกส่วนที่ได้รับผลกระทบ มีการตั้งงบประมาณรองรับในทุกส่วนเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อมั่นว่าเมื่อมีการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนสำเร็จก็จะเป็นส่วนช่วยสำคัญทำให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมั่นคงต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับ 1 มา 2 ปีแล้ว และเป็นประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อันดับ 1 หากเราได้รับความร่วมมือที่สำคัญจากประชาชน ในการรวมไทยสร้างชาติ ประเทศไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างลุล่วง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมต่อเนื่องจากมีภารกิจที่จังหวัดสุโขทัย