ประชุมรัฐสภาพิจารณา กม.ยาเสพติด ก้าวไกลจี้กองทุนจากทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์ต้องรายงานรัฐสภา ขณะที่ ส.ว.จวกนโยบายตั้งรางวัลนำจับ คือการจับแบบเลี้ยงหมู ขุนให้อ้วนก่อนเข้าจับกุม แต่บำบัดไม่ถึงครึ่งของผู้ถูกจับกุม
วันนี้ (1 ก.ย.) มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. ... และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวถือเป็นร่างกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูป จึงต้องใช้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในการพิจารณา โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมนั้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล แจ้งต่อที่ประชุมว่า ร่างกฎหมายที่ว่าด้วยยาเสพติดจะรวมการพิจารณาในคราวเดียว แต่จะแยกลงมติเป็นรายฉบับ ขณะที่เวลาการพิจารณานั้นกำหนดไว้ที่ 6 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 2 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 2 ชั่วโมง และ ส.ว. 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีวาระพิจารณาความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษีด้วย ซึ่งกำหนดให้เวลาแต่ละฝ่ายๆ ละ 1 ชั่วโมง ดังนั้น การประชุมรัฐสภาจะดำเนินไปจนถึงเวลา 21.00 น.
จากนั้นนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจงถึงสาระสำคัญว่า ร่างกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดฉบับนี้ ได้รวมและยกเลิกกฎหมายยาเสพติดทั้งหมด 24 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นระบบ ทั้งนี้ จำเป็นต้องกำหนดให้มีระบบอนุญาตเพื่อให้การควบคุมและการใช้ประโยชน์ยาเสพติดในทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพ และมุ่งเน้นการป้องกันการแพร่กระจายยาเสพติดไปยังกลุ่มเยาวชนในทางที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นการปรับปรุงบทบัญญัติให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เพื่อให้การปฏิบัติงานที่มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องนั้นสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า กองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่กำหนดให้ทรัพย์สินของกองทุนมาจากทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีผู้ขอคืนหลังจากที่ถูกอายัดไว้ภายใน 1 ปี รวมทั้งทรัพย์สินในกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินนั้น แต่ในเนื้อหายังขาดการตรวจสอบ ขอเสนอให้มีการรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนดังกล่าวต่อรัฐสภาด้วย ทั้งนี้ ทรัพย์สินในกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 พบว่า มีสินทรัพย์สุทธิ 1,700 ล้านบาท มีสินทรัพย์สภาพคล่อง 886 ล้านบาท มีรายได้ 172 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย 200 ล้านบาท แต่ตนเชื่อว่า รายได้ของกองทุนดังกล่าวน่าจะมีมากกว่านี้
ด้านว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ส.ว. อภิปรายว่า นโยบายปราบปรามยาเสพติด พบการจับกุมเพิ่มมากขึ้นทุกปี และคนที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีนั้นพบว่าโดนจับ 3-4 รอบ สิ่งที่เกิดขึ้นภาษาชาวบ้านเรียกว่า จับแบบเลี้ยงหมู เพราะต้องการเลี้ยงให้อ้วนก่อนเข้าจับกุม ปัญหาที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับการตั้งรางวัลนำจับให้กับเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่การปฏิบัติงานต้องถือเป็นหน้าที่โดยตรง และกินภาษีของประชาชน นอกจากนี้ การใช้นโยบายแบบตั้งเป้าการจับกุมนั้น ทำให้ผู้ค้ารายย่อยถูกบรรจุเป็นคดีมากขึ้น โดยในปี 2562 พบผู้ต้องหา 9.4 หมื่นราย และในปี 2563 เพียงครึ่งปี พบผู้ต้องหาแล้ว 9.1 หมื่นราย ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวทำให้ปัญหายาเสพติดสะสมและลามไปยังกลุ่มเยาวชน เพราะเยาวชนที่ติดคุก ได้พบผู้สอนที่อยู่ในคุก เมื่อพ้นโทษจึงกระทำผิดซ้ำอีก ดังนั้น ควรพิจารณาถึงการเยียวยาที่พบว่ายังทำการบำบัดได้ไม่ถึงครึ่งของผู้ที่ถูกจับ โดยสถิติล่าสุดพบว่ามีผู้ถูกจับจำนวน 1.3 แสนราย แต่ผู้ที่ได้รับการเยียวยาหรือบำบัดนั้นมีเพียง 2 พันคนเท่านั้น ซึ่งควรส่งเสริมด้านอาชีพ เพราะการทำงานแบบตั้งเป้ายึดทรัพย์ให้ได้นั้นตนมองว่าทำให้การปราบปรามยาเสพติดไม่มีความจริงใจ และนักโทษล้นคุก
ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ขอเสนอให้ปฏิรูปและปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด้านยาเสพติด ส่วนกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ควรกำหนดภารกิจเพิ่มเติมในส่วนของการป้องกันทางด้านสังคม ครอบครัว พัฒนาชุมชนด้วย ทั้งนี้ วงการยาเสพติดนั้นมีเงินหมุนเวียนหลักแสนล้านบาท มีผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า ร้านทองหลายแห่งเล่นแร่แปรธาตุจากยาเสพติด ฟอกเงินเป็นระบบ มีคนกระซิบด้วยว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองรู้แต่ไม่ทำ ดังนั้น กฎหมายที่กำหนดให้ริบทรัพย์สินของคดียาเสพติดที่ศาลตัดสินให้เป็นกองทุนได้นั้นควรขยายไปใช้ในภารกิจฟื้นฟูอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย