รองโฆษกรัฐบาล แถลง ครม.อนุมัติหลักการโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แก้ปัญหาน้ำท่วม 2 แสนกว่าไร่
วันนี้ (1 ก.ย.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติในหลักการให้กรมชลประทานเข้าดำเนินการเตรียมความพร้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เป็น 1 ใน 66 พื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซาก ที่ต้องได้รับการแก้ไขเชิงบูรณาการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจและตัวเมืองเพชรบุรี เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่อ่าวไทย และเป็นแหล่งต้นน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ คือ 1) ช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีที่ได้รับผลกระทบประมาณ 219,681 ไร่ 2) เพิ่มศักยภาพการใช้พื้นที่การเกษตรประมาณ 10,000 ไร่ 3) เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคและบริโภคประมาณ 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี 4) เป็นการเพิ่มเส้นทางคมนาคม โดยใช้ถนนบนคันคลองเชื่อมต่อถนนสายหลัก และ 5) เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประชาชน
ในชั้นนี้ ครม.อนุมัติในหลักการเพื่อให้กรมชลประทานสามารถเข้าดำเนินการในขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ การดำเนินการสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการ รวมถึงการจัดหาที่ดินและการเตรียมความพร้อมเพื่อก่อสร้าง สำหรับแผนการดำเนินการของกรมชลประทานในระยะต่อไป ช่วงปี 2563-2569 คือ 1) การปรับปรุงคลองระบายน้ำสายที่ 1 (D1) ระยะทางรวม 24 กิโลเมตร และคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 1 (RMC1) ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบ ให้สามารถระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยรวมทั้งสิ้น 550 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการ 2) งานเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บเก็บน้ำ โดยเพิ่มความจุเขื่อนแก่งกระจาน 53 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมท่อส่งน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากเขื่อน และเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการสำรวจและออกแบบในปีงบประมาณ 2564
ทั้งนี้ เมื่อโครงการนี้มีความพร้อมในด้านต่างๆ แล้วจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปีงบประมาณ 2565 โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างหรือปรับปรุงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ และพื้นที่ชุ่มน้ำแต่อย่างใด