อดีต ส.ว.กทม. ตั้งคำถาม ก.อ.ไม่ตั้งอนุ กก.สอบวินัย “เนตร นาคสุข” อาจเข้าข่ายละเว้นหน้าที่ ผิด ม.157 หรือไม่ ดักใช้วิธีงดออกเสียงไม่ได้ ฉะฆ่าตัดตอนสอบสวนช่วยคดี “บอส” ซ้ำสอง ยก พ.ร.บ.ระเบียบ ขรก.- ข้อ กม.ชี้ชัดต้องตั้งสอบ จี้ทบทวนมติ
วันนี้ (20 ส.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” ในหัวข้อ “ก.อ ไม่สอบวินัย เนตร นาคสุข อาจเข้าข่ายละเว้นหน้าที่ ผิด ม.157 หรือไม่” มีเนื้อหาระบุว่า การที่ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ได้ออกแถลงการณ์ 6 ข้อ ระบุถึงเหตุผลที่แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปราศจากอำนาจหน้าที่ในการสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา ถึงขั้นประธานก.อเป็นผู้เสนอให้ก.อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนนายเนตรเอง
การที่คณะกรรมการอัยการ 14 คน จาก 15 คน (ไม่รวม นายเนตร นาคสุข ผู้ถูกพิจารณา) ลงมติไม่ตั้งคณะอนุกรรมการสอบวินัย นายเนตร นาคสุข รอง อสส.ด้วยการงดออกเสียงเป็นส่วนใหญ่ จำนวน 9 คน ต่อผู้ที่ลงมติเห็นชอบให้ตั้งกรรมการสอบวินัยจำนวน 5 คนนั้น ผู้ที่ใช้วิธีการงดออกเสียง แต่มีผลเป็นการไม่เห็นด้วยโดยไม่ต้องบอกเหตุผลน่าจะไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากองค์กรอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะ คณะกรรมการอัยการเป็นคณะกรรมการที่ต้องวินิจฉัยในเรื่องการดำเนินการทางวินัยข้าราชการอัยการ จึงเป็นอำนาจที่ต้องวินิจฉัยผิดถูกด้วย ดังนั้น การงดออกเสียงอันเกี่ยวด้วยวินัย เป็นสิ่งที่ไม่อาจกระทำได้ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไป ใช่หรือไม่?
การลงมติไม่ตั้งกรรมการสอบวินัยของ ก.อ ในครั้งนี้ ส่งผลเสียหายต่อความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมโดยรวม การที่รองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ก็ทำให้สาธารณชนเห็นว่าเป็นกระบวนการสมคบคิดฆ่าตัดตอนคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยาโดยองค์กรอัยการอยู่แล้ว ยิ่ง ก.อ มางดออกเสียงเพื่อไม่ตั้งกรรมการสอบวินัยผู้ที่ถูกประธาน ก.อ กล่าวหาว่าเข้าข่ายการกระทำผิดต่ออำนาจหน้าที่ ถ้าไม่ตั้งกรรมการสอบก็จะกลายเป็นว่าคณะกรรมการอัยการฆ่าตัดตอนการสอบสวนกรณีช่วยเหลือคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ซ้ำสอง นอกจากจะทำให้ประชาชนยิ่งเสื่อมศรัทธาในองค์กรอัยการแล้ว น่าจะเข้าข่ายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.อ ด้วย ใช่หรือไม่ ?
ในเมื่อประธาน ก.อ ก็กล่าวหาว่า รอง อสส.ทำผิดวินัย ทำผิดระเบียบ ทำผิดหน้าที่ ไม่มีอำนาจสั่งสำนวนคดีที่จบไปแล้ว ทั้งการสั่งไม่ฟ้องโดยพิจารณาหลักฐานจากรายงาน กมธ.สนช. ที่อยู่นอกสำนวนนั้นที่ขณะนี้ข้อเท็จจริงชัดเจนขึ้นว่า มีขบวนการบิดข้อมูลเรื่องความเร็วของรถที่นายวรยุทธขับให้อยู่ในความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งล้วนเป็นความเท็จ ยิ่งทำให้สังคมเห็นว่าการสั่งไม่ฟ้องคดีของรอง อสส.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย จึงยิ่งต้องดำเนินการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบวินัยรอง อสส. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๓๐(๘) มาตรา ๗๔ และมาตรา ๘๒ ดังที่บัญญัติไว้ว่า
มาตรา ๓๐ นอกจากอํานาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น ให้ ก.อ. มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๘) พิจารณาเกี่ยวกับการดําเนินการทางวินัยข้าราชการฝ่ายอัยการ และการสั่งให้ข้าราชการ ฝ่ายอัยการออกจากราชการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๗๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๘๒ เมื่อข้าราชการอัยการผู้ใดถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทําผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาต้องดําเนินการสอบสวนชั้นต้นโดยมิชักช้า ผู้บังคับบัญชาระดับใดมีอํานาจดําเนินการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการระดับใด รวมตลอดท้ังวิธีการสอบสวนชั้นต้น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.อ. กําหนด
มาตรา ๘๒ การดําเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสําหรับอัยการสูงสุด และ รองอัยการสูงสุด ให้เป็นอํานาจและหน้าที่ของ ก.อ. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.อ. กําหนด
ดังนั้น การไม่ตั้งอนุกรรมการเพื่อสอบข้อเท็จจริงและวินัย จะเข้าข่ายเป็นการละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.อ หรือไม่ !?
ดิฉันจึงขอเรียกร้องให้ก.อ โปรดทบทวนมติอีกครั้ง ถ้า ก.อ ไม่ดำเนินการตั้งกรรมการสอบสวน ก็อาจเป็นการกระทำผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ เข้าข่ายการกระทำผิดตาม ป.วิอาญามาตรา 157 ใช่หรือไม่