xs
xsm
sm
md
lg

ทอ.ใช้ปัญญาไทยพัฒนาอุตสาหกรรม ชี้ตัดงบคนตกงานเพียบ เล็งปี 80 ได้โฉนดอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (แฟ้มภาพ)
ผบ.ทอ.พร้อมถอดบทเรียนโควิด ใช้ปัญญาไทยพัฒนาอุตสาหกรรม สร้างคน-สร้างงาน แจงสภาหากตัดงบ ทอ.ทำคนตกงานเพียบ เพราะจะสร้างเครื่องบินในประเทศ ระบุปี 80 ได้โฉนดอวกาศ

วันนี้ (20 ส.ค.) ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการศึกษากองทัพอากาศภายใต้แนวคิด “P&D drives seamless cooperation - Education drives coordinated opportunities” เพื่อเป็นเวทีเสรีในการระดมความคิดและการปฏิบัติจากหน่วยงานภายในกองทัพอากาศ ภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง

โดย พล.อ.อ.มานัตปาฐกถาพิเศษเรื่อง “กองทัพอากาศและการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มเติม คือ การสร้างกลไกของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอย่างจริงจัง หลังจากเกิดโควิด-19 เราเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมปิดตัวลงมากมายและคนไทยตกงาน ดังนั้น เราจะนำบทเรียน เพื่อเป็นกระจกส่งตัวเราว่าขาดต้นทุนในส่วนใดบ้าง พบว่าเราขาดปัจจัยที่ 4 ยา และเวชภัณฑ์

สำหรับต้นทุนความมั่นคงทางด้านทหาร โควิด-19 ทำให้เราขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ยุทโธปกรณ์มากพอสมควร ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่เราจะไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดไปและจะใช้ขีดความสามารถของคนไทยมาแก้ไขและชดเชยในส่วนนี้ โดยเราจะเริ่มปีนี้และต่อไปอีกยาวนาน

การรวมพลังของปัญญาคนไทยเป็นเรื่องสำคัญ วันนี้ตนจะเป็นแกนกลางและต้นแบบในการขับเคลื่อน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีความสำคัญต่อบ้านเมืองสภาพแวดล้อมตอนนี้

สภาวะแวดล้อมเต็มไปด้วยความขัดแย้งทั้งในเอเชีย ทะเลจีนใต้ ทั่วโลก สิ่งที่เรากำลังมองคือโลกของไซเบอร์หรือไซเบอร์เวิลด์ และเราจะมองไปถึงในเรื่องอวกาศ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์กองทัพอากาศและที่สำคัญที่สุดคือพลังปัญญาไทยที่จะต้องทำให้สำเร็จ

กองทัพอากาศมีความมุ่งหวังในทุกภาคส่วนมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นหนึ่งเดียว คือ การมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในฐานะที่เราคือความมั่นคงของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน เราจะมาช่วยกันสร้างงานอาชีพ ทักษะ ในกลุ่มงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมป้องกันอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สามารถสร้างงาน อาชีพ รายได้ให้กับประเทศได้

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญโดยเทคโนโลยีบางอย่างเกิดจากทางทหารมาก่อนแล้วนำไปประยุกต์ใช้ เช่น อีเมล หรือแม้กระทั่งเครื่องยนต์ที่นำไปใช้ในเครื่องบินก่อนนำไปใช้ในรถยนต์ สิ่งสำคัญคือการวิจัยที่เป็นมันสมองของคนในชาติ ที่เราจะต้องได้เทคโนโลยีเป็นของเราเอง รวมถึงได้ความมั่นคงในกองทัพ

สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคและในโลกมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เราต้องตระหนัก ทบทวนว่าควรยืนบนขาด้วยตัวเอง กองทัพอากาศมีสมุดปกขาวที่เริ่มดำเนินการเมื่อปีที่ผ่านมา และบางอย่างมองเห็นปัญหาที่ต้องแก้ไข สิ่งที่เราทำไปแล้วโดยร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ทั้งภาคอากาศ เช่น เครื่องบินต้นแบบ และภาคพื้น เช่น เครื่องป้องกันฐานบินและรถตรวจการณ์ ทุกอย่างใส่ปัญญาไทยไป แต่ทั้งนี้เราต้องบูรณาการกลไกภาครัฐสอดรับต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกองทัพได้ทำสำเร็จ และเกิดขึ้นแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ เช่น เช่นโครงการ F5 โครงการ Alpha Jetโครงการ Au- 23 แต่สิ่งที่สำคัญเราจะต่อยอดอย่างไรในอนาคต หากกองทัพอากาศทำเพียงเหล่าทัพเดียวก็จะรู้สึกโดดเดี่ยวจึงจำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมจากเหล่าทัพอื่นๆ ด้วย รวมถึงในส่วนของภาครัฐกระทรวง ทบวง กรม และภาคอุตสาหกรรมของไทย หากได้ความร่วมมือที่ดีก็จะประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ขณะนี้กองทัพอากาศ กำลังยิงดาวเทียม “นภา 1” ซึ่งจะเกิดขึ้นต้นเดือนกันยายน เพราะที่ผ่านมาติดสภาพปัญหาอากาศ และจากนั้นยิงดาวเทียม “นภา 2” ต่อทันที เราจะยิงจนกว่าจะจองโฉนดอากาศได้ในปี 2580 เพราะในห้วงอวกาศมีผลประโยชน์มากมายมหาศาล

นอกจากนี้ พล.อ.อ.มานัตกล่าวถึงการชี้แจงงบประมาณกองทัพอากาศต่อสภา โดยทางสภาได้ตั้งข้อสังเกตถึงโครงการต่างๆ ของกองทัพอากาศว่าใส่งบประมาณไปเป็นจำนวนมากควรที่จะนำเงินไปช่วยประชาชนในเรื่องโควิดก่อนจะดีหรือไม่ ตนได้ชี้แจงไปว่าวิธีคิดของกองทัพอากาศไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่เรามองว่าเราต้องสร้างงาน เพราะโควิดคือกระจกส่องที่ทำให้ได้เห็นว่าเราไม่มีต้นทุน หากเราสร้างต้นทุนในประเทศอย่างถูกวิธี เงินที่ใส่ลงไปเท่าไหร่ก็เป็นเงินหมุนเวียน แต่เราได้ตัวผลิตภัณฑ์และการสร้างงาน เมื่อนำ 2 อย่างนี้มารวมกันก็คือปัญญาไทย สิ่งตรงนี้จะเกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมในปี 2020 และสามารถเกิดได้จริง ตนได้อธิบายว่า หากสภาตัดโครงการดังกล่าวจะมีคนไทยจะตกงานมากมาย เพราะโครงการนี้จะผลิตและสร้างเครื่องบินในประเทศ ถ้าเดินหน้าต่อจะมีงานในเมืองไทยแน่นอน โดยเฉพาะงานเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศวางยุทธศาสตร์ถึง 2580 ตนเชื่อว่าตรงเป้าหมาย ถูกทิศทางทำได้แน่นอน ทั้งนี้รัฐบาลต้องสนับสนุนงบยุทธศาสตร์ และต้องแยกออกมาจากงบปกติ แต่ในปัจจุบันโดยใช้กฎหมายบังคับให้กองทัพอากาศอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ ไม่ได้ไปซื้อของนอกประเทศ แต่ปัจจุบันกองทัพอากาศไม่ได้รับงบยุทธศาสตร์ ซึ่งได้ดำเนินการโดยใช้งบปกติในส่วนของกองทัพอากาศแบ่งออกมาเป็นยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ ตนได้คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงงบประมาณในส่วนของยุทธศาสตร์ของกองทัพอากาศ เรียบร้อยแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น