xs
xsm
sm
md
lg

ทอ.สัมมนาใหญ่ เสนอสมุดปกขาวแผนโครงการอาวุธ 20 ปี แสวงความร่วมมือทุภาคส่วน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัดกห. เปิดสัมมนาใหญ่ของทอ. เสนอสมุดปกขาวแผนโครงการอาวุธ 20 ปี แสวงความร่วมมือเอกชน รัฐใน นอกประเทศ ภูมิภาค ต่อยอดด้วยการวิจัย อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

วันนี้ (20 ก.พ.) เวลา 08.30 น. ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดสัมมนาทางวิชาการกองทัพอากาศ ประจำปี 2563 หรือ Royal Thai Air Force Symposium 2020 เพื่อสร้างความเข้าใจการกำหนดทิศทางการพัฒนากองทัพอากาศ และการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศภายในประเทศตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นรูปธรรม โดยมีพล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้พล.อ.ณัฐ กล่าวว่า ตนรู้จักกับผบ.ทอ.มาตั้งแต่เด็กเพราะเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 20 รุ่นเดียวกัน เห็นความตั้งใจในการพัฒนากองทัพอากาศให้ก้าวหน้า ทันสมัย พร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ ผอ.ทอ.มีความคิดพัฒนากองทัพอากาศให้เจริญก้าวหน้าต่อเนื่องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงที่เสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศและความสงบสุขเพื่อประชาชน ขณะที่ยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศ เป็นความท้าทายที่กองทัพต้องเผชิญคือเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าทุกวินาที มีการพัฒนารวดเร็ว มีราคาสูง เราต้องปรับเขี้ยวเล็บของเราภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด เพื่อเสริมสร้างกองทัพ บริบทปัจจุบันเราต้องคิดใหม่ ทำใหม่ปรับเปบี่ยนวิธีการ ต้องร่วมมือและร่วมทุนกับหลายประเทศ

พล.อ.ณัฐ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมหลายประเทศก็ปรับเปลี่ยนวิธีการในการประสานงานกับประเทศไทย ในส่วนของยุทโธปกรณ์ต้องมีความร่วมมือและร่วมทุนมากขึ้น รวมถึงภาครัฐและภาคเอกชนมีความสำคัญต้องผนึกกำลังและบูรณาการ ซึ่งกองทัพอากาศประกาศชัดเจนว่ามีแนวทางพัฒนากองทัพอย่างไร สิ่งนี้เป็นนโยบายรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อเป้าหมายสำคัญคือเราต้องพึ่งพาตนเอง สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมจะผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่องจนปัจจุบันกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพสามารถผลิตยุทโธปกรณ์ได้เองหลายรายการ ปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องดีที่มีพ.ร.บ.เทคโนโลยีประเทศรองรับเรื่องนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่างกฎหมายลูกขึ้นมาเพื่อรองรับให้เป็นรูปธรรมต่อไป

“กระทรวงกลาโหมอยู่ระหว่างหาพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่ใหม่จัดทำนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศใหม่ เช่น ที่จ.ชลบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นต้น เราต้องเดินหน้าต่อไปให้เป็นรูปธรรม ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นเพื่อเดินหน้า และประสานงานบูรณสการการทำงานที่เป็นเรื่องสำคัญ กระทรวงกลาโหมมี ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ กรมการพลังงานทหาร ซึ่งได้พัฒนาสิ่งที่ได้ผลิตขี้นมาให้มีคุณภาพแบะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ดินระเบิด กระสุนปืนเล็ก กระสุนปืนใหญ่ เครื่องยิงอัตราจร ซึ่งต้องพัฒนาต่อไปและในอนาคตเราต้องผลิตได้เอง อีกทั้งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา ขณะที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมมีศูนย์บูรณาการข้อมูลยุทโธปกรณ์จากทั่วโลกเพื่อศึกษา ขณะนี้กองทัพอากาศขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศก้าวไปอีกขั้น ถือเป็นสตาร์ทอัพที่ดี” พล.อ.ณัฐ กล่าว

จากนั้นพล.อ.อ.มานัต กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า ในการสัมมนาวันนี้เป็นการนำเสนอแผนงานโครงการในสมุดปกขาวที่กองทัพอากาศได้จัดทำขึ้นว่าเราจะเดินไปทางไหน ซึ่งแผนงานโครงการระยะยาวเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลงในรอบ 20 ปี ยกเว้นเทคโนโลยี ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์กองทัพอากาศและประเทศไทย ซึ่งกองทัพอากาศมีความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างสันอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นภูมิคุ้มกันประเทศ โดยเราไม่จำเป็นต้องสร้างทุกชิ้นส่วน แต่จะอาศัยความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ

พล.อ.อ.มานัต กล่าวต่อว่า ทั้งนี้แแผนงานโครงการประกอบไปด้วย 1.Air domain ซึ่งเป็นเรื่องของกำลังทางอากาศ และเรื่องภาคพื้นทั้งหมด 2.Cyber domain ประกอบไปด้วยลักษณะการใช้งานทั่วไป 3.Cyber War Fareถือเป็นภัยคุกคามที่เราต้องมีขีดความสามารถ ระบบป้องกันเพื่อขับเคลื่อนในส่วนนี้ให้ได้ และ 4.Space domain ที่เกี่ยวข้องกับนิติอวกาศ ซึ่งการสัมมนาในวันนี้ เพื่อดูว่ามีส่วนไหนที่ติดขัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย การนำเข้า การเปิดธุรกิจในประเทศ เพื่อดูว่าเราสามารถช่วยผู้ประกอบการในประเด็นใดได้บ้างแล้วนำข้อเสนอสิ่งเหล่านี้ต่อกระทรวงกลาโหมและรัฐบาลต่อไป โดยทำให้มีความเข้มแข็ง

พล.อ.อ.มานัต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กองทัพอากาศเปิดหลักสูตรปริญญาโทเทคโนโลยีป้องกันประเทศครั้งแรก จำนวน 20 ทุนการศึกษาที่ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช เพื่อต้องการให้เกิดผลการศึกษาวิจัยที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงไม่ใช่เอาไว้บนหิ้ง หวังผลว่าทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชน ภาครัฐจะมีส่วนร่วมในแนวทางของกองทัพอากาศ อย่างไรก็ตามจะดูว่าในสมุดปกขาวจะสามารถเข้าไปร่วมตรงไหนได้บ้าง โดยในนั้นจะระบุโครงการจัดซื้อ โครงการร่วมพัฒนา ระบุเวลาไว้ทั้งหมด การเข้ามานั้นต้องเป็นไปตามข้อตกลงโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีการเซ็นต์สัญญาใดๆ แต่การร่วมมือการตกลงนั้นเป็นสิ่งสำคัญชัดเจน แต่รัฐและเอกชน ทั้งในประเทศไทย ภูมิภาค และโลก เพื่อเดินไปตามแนวทางกองทัพอากาศที่วางไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น