xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ไม่โอเคคดี “บอส” ชี้หลายเรื่องยังไม่ชัด พร้อมลุยเองหลังได้ข้อสรุปจาก กก.ตรวจสอบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ ปาฐกถาพิเศษ 74 ปี บางกอกโพสต์ ชี้สื่อคุณภาพเป็นหนึ่งในโครงสร้างสำคัญ ส่งเสริมฐานราก ศก.ภายใน ย้ำกู้เงินมาพลิกฟื้นประเทศ ปรับบริบทพัฒนาชาติ ให้ ปชช.มีส่วนร่วม ใช้วิกฤตเป็นโอกาส ยันไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่โอเคคดี “บอส วรยุทธหลายเรื่องยังไม่ชัดเจน อยากให้โปร่งใส จะผลักดันติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการหลังเห็นข้อสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบ

วันนี้ (6 ส.ค.) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แสดงปาฐกถาพิเศษเนื่องในงานครบรอบ 74 ปี หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หัวข้อ “พลิกฟื้นประเทศไทย : ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง”

โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมในพิธีเปิดงานครบรอบ 74 ปี หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หัวข้อ “พลิกฟื้นประเทศไทย : ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง” และขอแสดงความยินดีที่บางกอกโพสต์ได้ทำหน้าที่สื่อมวลชนคุณภาพของประเทศในการนำเสนอข่าวสารแก่พี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน การมีสื่อมวลชนที่มีคุณภาพถือเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อประเทศ เพราะการสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นธรรมจะมีส่วนอย่างมากต่อการตัดสินใจในการดำรงชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน อีกทั้งการสร้างการรับรู้ข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง การให้ความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา สร้างสรรค์ สะท้อนความต้องการของประชาชนจะช่วยสร้างความเข้าใจ บรรเทาความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพลิกฟื้นประเทศในช่วงที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน อีกมิติหนึ่งที่สำคัญ คือ พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องทำนุบำรุงให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีในการพลิกฟื้นประเทศไปสู่ความมั่นคงให้ได้เร็วที่สุด

“ตั้งแต่ผมเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ผมได้เห็นเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 อยู่ที่เพียงร้อยละ 1.0 และเริ่มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 และร้อยละ 3.4 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ และเติบโตต่อเนื่องหลังจากนั้น จนกระทั่งปี 2563 ที่ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งได้ทวีความรุนแรงและขยายขอบเขตไปในหลายประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงการปิดสถานที่และจำกัดการเดินทาง หรือมาตรการ Lockdown ส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 หดตัวต่อเนื่องจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และหลายประเทศขยายตัวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2552 องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัวไปอีก 1-2 ปี

เราต้องยอมรับว่า วิกฤตในครั้งนี้ไม่เหมือนกับวิกฤตที่ไทยเคยประสบมาในอดีต ที่ส่วนใหญ่เป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากภาคการเงินเป็นสำคัญ หรือส่งผลกระทบเฉพาะบางประเทศหรือบางภูมิภาคเท่านั้น เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ดังนั้น การฟื้นฟูเศรษฐกิจในครั้งนี้ จึงหวังพึ่งพาปัจจัยภายนอกอย่างที่ผ่านมาไม่ได้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องหันกลับมาเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศให้แข็งแกร่ง เพื่อชดเชยความต้องการสินค้าและบริการจากภายนอกในช่วงที่ทั่วโลกยังประสบวิกฤตอยู่

ที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ปัญหาเร่งด่วนมาเป็นลำดับ โดยได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ตัวอย่างเช่น มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนของประชาชน เช่น การลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า การสนับสนุนเงินให้แก่ประชาชนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ อาทิ ลูกจ้างรายวัน มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมถึงการจัดการหนี้เดิมที่มีอยู่ อาทิ มาตรการพักเงินต้น ลดดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในช่วงของการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ เพื่อให้ทรัพยากรของภาครัฐเพียงพอต่อการพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพในระยะเร่งด่วน รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1,000,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเป็นไปตาม 3 แผนงาน ได้แก่ (1) แผนงานหรือโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท (2) แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ วงเงิน 555,000 ล้านบาท และ (3) แผนงานหรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท

การจัดสรรเงินภายใต้เงินกู้ของพระราชกำหนดฯ นี้ ในเบื้องต้นคาดว่าจะช่วยพยุงให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง โดยปัจจุบันได้มีการดำเนินงานภายใต้แผนงานหรือโครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกจากนี้ ยังมีส่วนของแผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว 4 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) กลุ่มอาชีพอิสระ โดยใช้จ่ายจากพระราชกำหนดฯ วงเงิน 170,000 ล้านบาท (2) กลุ่มเกษตรกร วงเงิน 150,000 ล้านบาท (3) กลุ่มเปราะบาง วงเงิน 20,345 ล้านบาท และ (4) กลุ่มประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 3,492 ล้านบาท ซึ่งจะเอื้อให้การใช้จ่ายและมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเริ่มกลับมาได้

สำหรับการดำเนินงานภายใต้แผนงานหรือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนและพัฒนากิจกรรมที่จะเป็นแรงส่งในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลาย รวมถึงรองรับการดำเนินวิถีชีวิตเข้าสู่วิถีปกติใหม่ (New Normal) ได้อย่างราบรื่น ผ่านการจ้างงานและการสร้างรายได้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และมุ่งเน้นโครงการที่จะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชนได้อย่างยั่งยืนเป็นลำดับแรก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปพลิกฟื้นขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะยังเฝ้าระวังและมีมาตรการต่อเนื่องในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รอบสองควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินตามพระราชกำหนดฯ จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ควบคู่ไปกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ได้มีการพิจารณาจัดสรรกรอบงบประมาณในเบื้องต้นและจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป

นอกเหนือไปจากการเยียวยาฟื้นฟู รัฐบาลยังเล็งเห็นความสำคัญในการปรับบริบทการพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ ให้สอดคล้องไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบให้มีความโปร่งใส และเป็นธรรมแก่ประชาชนและนักลงทุนทุกท่าน ท้ายที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภัยทางธรรมชาติ เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างเสมอมา เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ นับเป็นการเดินหน้าที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลได้วางแผนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ที่สำคัญ รัฐบาลจะเร่งปรับปรุงวิธีการทำงานของภาครัฐและให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและติดตามประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนให้ดำเนินการผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งการทำงานเชิงรุกของรัฐบาลในการแก้ไขและพัฒนาที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจสอดรับกับวิถีปกติใหม่ (New Normal)

ทั้งนี้ ผมเห็นว่าควรต้องใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสในการพลิกฟื้นประเทศให้กลับมา ไม่เพียงแต่ดีเท่าเดิม แต่ต้องดีกว่าเดิม ซึ่งต้องการความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชนจากทุกภาคส่วนในการ “รวมไทยสร้างชาติ” ภายใต้วิกฤตนี้ เราจะฟันฝ่าไปด้วยกัน “วันนี้เราต้องรอด วันหน้าเราต้องเข้มแข็งกว่าเดิม” และเดินต่อไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ข้างหน้า เรามีเวลาเหลือไม่มากแล้ว เราจึงต้องเร่งฟื้นฟู เรียนรู้ และร่วมมือกันอย่างแข็งขัน

สุดท้ายนี้ ความสำเร็จของประเทศไทยล้วนมาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกท่านที่ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ดังนั้น ผมขอให้ทุกท่านช่วยตระหนักถึงความร่วมมือและการสร้างความมั่นคงภายใน ที่จะสร้างบรรยากาศและความเชื่อมั่นให้กับการค้าการลงทุนในโครงการที่รัฐบาลได้ริเริ่มขึ้น เช่น การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ที่จะช่วยสร้างรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว และจะนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และผมขอยืนยันว่ารัฐบาลมีความแน่วแน่ และจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ผมขอเสริมอีกหนึ่งเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ คือ เรื่องบอส กระทิงแดง กรณีนี้แสดงให้เราเห็นได้ชัดเจนถึงความสาคัญของสื่อที่มีต่อสังคมไทย และนั่นคือเหตุผลที่ผมเชื่อว่าในประเทศไทย สื่อต้องมีความเป็นอิสระ และมีความแข็งแรง เรื่องนี้ท้าทายระบบยุติธรรมและระบบกฎหมาย และกระทบต่อความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อระบบรัฐทั้งหมด ผมจึงขอแสดงจุดยืนของผมในเรื่องบอส กระทิงแดง ว่า “ผมไม่โอเค” กับหลายเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน ผมต้องการให้มีความโปร่งใส ผมจะผลักดันและผมจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ผมพร้อมที่จะดำเนินการหลังจากเห็นข้อสรุปของคณะกรรมการที่ผมตั้งขึ้นซึ่งมีความเป็นอิสระ และประกอบไปด้วยผู้ที่เป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งในเรื่องความรู้และความเป็นกลาง

ในโอกาสนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในการทำหน้าที่เป็นสื่อแนวหน้าของประเทศ และสร้างสรรค์ผลงานที่จะมีบทบาทในการพลิกฟื้นและพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และขอให้การจัดงานในวันนี้บรรลุผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ทุกประการ”

"บิ๊กตู่" ลั่น คดี บอส" ไม่โอเค หลายเรื่องไม่ชัดเจน ต้องโปร่งใส : [UNCUT]

"บิ๊กตู่" ลั่น คดี บอส" ไม่โอเค หลายเรื่องไม่ชัดเจน ต้องโปร่งใส

โพสต์โดย News1 เมื่อ วันพุธที่ 5 สิงหาคม 2020













กำลังโหลดความคิดเห็น