รองโฆษกรัฐบาล เผย “ประยุทธ์” ขอบคุณพลัง “รวมไทย สร้างชาติ” หลังทุกหน่วยเร่งช่วย ปชช.พื้นที่น้ำท่วมจากพายุซินลากู จนสถานการณ์คลี่คลาย มอบ กอนช.จับตาสถานการณ์น้ำ เร่งเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนช่วงฤดูฝนนี้
วันนี้ (5 ส.ค.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณหน่วยงานภาครัฐ ประชาชน อาสาสมัคร ที่เป็นพลัง “รวมไทย สร้างชาติ” ทุกฝ่ายเร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุ “ซินลากู” กว่า 2 หมื่นครัวเรือนใน 13 จังหวัด จนปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลาย โดยพาณิชย์จังหวัดได้เข้าไปสำรวจสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งด้านปริมาณและราคา ได้เร่งประสานงานให้ผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายห้างค้าปลีกค้าส่งให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งป้องกันการฉวยโอกาสโก่งราคาสินค้าในพื้นที่ที่ประสบภัยด้วย ขณะที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เข้าไปสำรวจผู้ประสบเหตุโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น รวมถึงเร่งประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ ต่อไป นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทหาร ตำรวจ รวมทั้งหน่วยงานทั้งที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ยังคงติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงปริมาณน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมตรวจสอบความมั่นคงของอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่ประสบภัย
รองโฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงวันที่ 5-7 นี้ จะยังคงมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จึงยังต้องเฝ้าระวังน้ำหลากบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขาบริเวณภาคเหนือตอนบน ท่านนายกฯ ยังฝากความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงขอให้เตรียมพร้อมตลอดเวลา เพราะความปลอดภัยของชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด และราชการทุกหน่วยต้องเตรียมภารกิจตนเองให้พร้อมรับทุกสถานการณ์
ในขณะเดียวกัน อิทธิพลของพายุ “ซินลากู” ได้ช่วยเติมปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำใน ณ วันที่ 4 ส.ค. 63 เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณ 531 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาณน้ำ 86 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำ 84 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ กอนช.ได้ยังคงเตือนว่าแม้แนวโน้มน้ำต้นทุนจะมีเพียงพอถึงต้นฤดูแล้งหน้า แต่ยังคงต้องมีการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งเตรียมความพร้อมรองรับน้ำหลากในฤดูฝนและเก็บกักน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปด้วย