ศาล รธน.ไต่สวนปม 32 ส.ส.ถือหุ้นสื่อ “ภาดาท์” อ้างเพิ่งรู้หลังถูกร้อง วันสมัคร ส.ส.บริษัทยังไม่ปิดกิจการ ทั้งที่แจ้งให้ 2 กก.บริษัททำเลิกกิจการตั้งแต่ปลายปี 61 แต่พบพิรุธมีชื่อลงนามเอกสารกลางปี 62 “ธัญญ์วาริน” แจ้งไม่ติดใจเข้าไต่สวน
วันนี้ (4 ส.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานในคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ 32 ส.ส.สิ้นสุดลงจากเหตุมีลักษณะต้องห้ามถือครองหุ้นสื่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยวันนี้เป็นการไต่สวน น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 20 และนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2
โดยการไต่สวนในส่วนของ น.ส.ภาดาท์ และพยาน 2 ปาก ศาลได้สอบถามถึงการดำเนินการกิจการของบริษัททาโร่ ทาเลนท์ ว่าทำธุรกิจผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ และบริการข้อมูลข่าวสารตามที่ระบุในวัตถุประสงค์เพิ่มเติมข้อ 23-28 ที่บริษัทยื่นจดต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ ซึ่ง น.ส.ภาดาท์ชี้แจงว่าบริษัทมีกรรมการ 3 คน จะหน้าที่กันรับผิดชอบซึ่งการยื่นจดทะเบียนบริษัทเป็นหน้าที่ของกรรมการอีกรายหนึ่งเข้าใจว่าการจดวัตถุประสงค์เพิ่มเติมก็เพื่อให้ครอบคลุม แต่ในข้อเท็จจริงบริษัทไม่ได้ทำเกี่ยวกับสื่อ แต่จัดค่ายอบรมเยาวชนให้แก่เด็กอายุ 8-14 ปี ในหลักสูตรเอ็กซ์วายแซด ซึ่งมีการจัดอบรมเพียงครั้งเดียว 5 วัน ระหว่างวันที่ 23-27 ต.ค. 60 ที่ อ.เขาใหญ่ ส่วนที่ใบนำส่งงบการเงินที่ยื่นกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่ได้ระบุว่าทำธุรกิจจัดอบรม กลับระบุว่าทำผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ฯ ก็เป็นเรื่องของผู้จัดทำบัญชี ที่มักจะนำวัตถุประสงค์เพิ่มเติมที่บริษัทจดเพิ่มข้อแรกมาใส่ไว้ ว่าเป็นลักษณะของการประกอบกิจการในการยื่น ยืนยันว่าเมื่อรู้ว่าตัวเองจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็ได้แจ้งให้หนึ่งในกรรมการบริษัทไปเลิกบริษัทในปลายปี 2561 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีกรรมการบริหาร 2 คนลงนาม ตนก็คิดว่ากรรมการทั้งสองคนดังกล่าวดำเนินการแล้ว จึงไม่ได้มีการติดตามสอบถาม และไม่ได้มีการลงชื่อในเอกสารที่ยื่นต่อราชการใดๆ อีกเลย เพิ่งมาทราบว่าไม่ได้มีการเลิกกิจการหลังมีการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
จากนั้นตุลาการได้สอบถามว่าถ้าเลิกกิจการตั้งแต่ปลายปี 61 และไม่ได้ลงชื่อยื่นในเอกสารใดอีก ทำไมในเอกสารงบการเงินลงวันที่ 18 มิ.ย. 62 ซึ่งเป็นเวลาหลังเปิดรับสมัคร ส.ส.ไปแล้ว 6 เดือนยังมีรายมือชื่อ น.ส.ภาดาท์ลงนามเอกสารใบนำส่งงบการเงินที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า น.ส.ภาดาท์ก็อ้างว่าอาจจะลืมเนื่องจากเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว
ด้าน น.ส.น้ำอ้อย อู่อรุณ ผู้จัดทำบัญชีบริษัทในปี 60 ชี้แจงต่อศาลว่า การระบุวัตถุประสงค์ในใบนำส่งงบการเงินที่ยื่นกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่ไม่ตรงกับการดำเนินกิจการจริงของบริษัท ทำด้วยความเคยชิน เพราะโดยปกติ บริษัทอื่นๆ ก็จะเอาวัตถุประสงค์ข้อแรกที่บริษัทนั้นจดเพิ่มเติมมาใส่ แต่ยืนยันว่าธุรกิจของบริษัทนี้คือจัดค่ายเยาวชน ส่วนที่ระบุในใบนำส่งงบการเงินว่าบริษัทมีรายได้ 100% จากการผลิตข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิง ก็เป็นเพราะความเคยชินที่จะนำเอาวัตถุประสงค์เพิ่มเติมข้อแรกซึ่งในกรณีนี้คือ ข้อ 23 มาใส่ ยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดที่ลงข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริงการดำเนินการของบริษัท แต่ไม่ได้จงใจให้ผิดพลาด
ส่วนที่ศาลสอบถามว่ามีรายการค่าใช้จ่ายผลิตสื่อในช่วงระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 8 ธ.ค. 60 เป็นค่าผลิตสื่ออะไรทั้งที่การจัดอบรมค่ายเยาวชนเสร็จสิ้นตั้งแต่ 27 ต.ค. น.ส.น้ำอ้อยชี้แจงว่า เป็นค่าผลิตสื่อเชิญชวนผู้ปกครองให้ส่งเด็กมาอบรม ซึ่งผลิตไปในช่วงก่อนจะอบรมแต่ยังไม่จ่ายเงินและมาจ่ายภายหลังจึงลงเป็นรายการบันทึกค้างจ่ายที่จ่ายชำระ
ขณะที่นายชาตรี ระวิพงษ์ ผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทดังกล่าวช่วงปี 60 กล่าวว่า ตรวจบัญชีตามเอกสารหลักฐานที่ผู้ทำบัญชีส่งมาไม่ได้มีการขอดูหรือสงสัยว่าบริษัทดำเนินกิจการตรงตามที่จดทะเบียนหรือไม่ จะดูเพียงตัวเลขของบัญชีว่าเป็นไปตามหลักการบัญชีหรือไม่ ส่วนรายละเอียดอื่นผู้จัดทำบัญชีเป็นผู้จัดทำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนการไต่สวนในรายของนายธัญญ์วารินนั้น ศาลได้แจ้งว่า ผู้ถูกร้องทราบนัดโดยชอบแล้วและได้รับแจ้งว่าไม่ติดใจให้ไต่สวน จึงไม่ได้มาศาล โดยหลังเสร็จสิ้นการไต่สวน ศาลแจ้งว่าให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง รอฟังคำวินิจฉัยพร้อมกับผู้ถูกร้องอื่นๆ