เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่...) พ.ศ ... ” เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 4 ส.ค. นี้ เพื่อผลักดันการใช้พืชกัญชาทางการแพทย์ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล
วันนี้ (3 ส.ค.) นายแพทย์ ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยนโยบายเร่งด่วนข้อ 4 ให้ความสำคัญในการต่อยอดภูมิปัญญาและความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านเพื่อสร้าง นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมถึง ศึกษา วิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้น
ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาโรคด้วยกัญชา ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ยังไม่สามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยของตน ส่งผลให้การรักษาด้วยภูมิปัญญาไทย ไม่ได้รับการต่อยอดและพัฒนาเท่าที่ควร เป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาไทยสู่ระดับโลก
“ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่...) พ.ศ ... ” เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่จะถึงนี้ (4 ส.ค. 2563) เพื่อผลักดันการใช้พืชกัญชาทางการแพทย์ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษแล้ว ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สํานักงานตํารวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ (ป.ป.ส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แพทยสภา สภาการแพทย์แผนไทย สภาเภสัชกรรม กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นต้น” นพ.ไพศาล กล่าว
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมุ่งเน้นหลักการสำคัญ 3 ประการคือ 1. เพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้ผู้ป่วยได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพสามารถขออนุญาตปลูกและใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคของตนเองได้
2. ต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์ในท้องถิ่นให้แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการปรุงยาเพื่อให้ผู้ป่วยของตนได้ และ 3. ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาของประเทศให้เกษตรกรสามารถขออนุญาตปลูกกัญชาภายใต้ความร่วมมือกับผู้ผลิตยา หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรอีกครั้งผู้ผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสามารถผลิตยากัญชาและส่งออกได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางยาของประเทศ ไม่ต้องนำเข้ายากัญชาจากต่างประเทศ และประหยัดงบประมาณ ในการนำยาโดยใช้ยากัญชาทดแทนหรือใช้ร่วมกับ ยาแผนปัจจุบันได้
“ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ผู้นำการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นระบบให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยกัญชาอย่างทั่วถึง เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดภูมิปัญญาไทยให้เกษตรกรร่วมกับผู้ผลิตยา หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ปลูกกัญชาเพื่อนำมาผลิตยา รวมถึงสามารถผลิตและส่งออกยากัญชาได้ เพื่อประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข และการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อให้ประเทศชาติมั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืน” เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวปิดท้าย