กลุ่มวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ เตรียมยื่นร้องศาลปกครองกลาง กระทรวงสาธารณสุข เลือกปฏิบัติ ไม่คัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษช่วงปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 เหมือนสายวิชาชีพอื่น
มีรายงานว่า ในวันที่ 30 ก.ค.ที่จะถึงนี้ เวลา 09.00 น. นางเยาวเรศ คำมะนาด นายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไทย ชมรมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมลูกจ้างนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ และคณะทำงานเพื่อพัฒนาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาบรรจุพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ ในเงื่อนไขบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการให้กระทรวงสาธารณสุขคัดเลือกบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับราชการเป็นกรณีพิเศษ โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการคัดเลือกบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาด 24 สายงาน จำนวน 40,897 อัตรา นั้น ปรากฏว่า ไม่มีสายวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 231 คน วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ซึ่งได้ปฏิบัติงานในช่วงเวลาการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง และเต็มความสามารถในการให้การสนับสนุนบริการการแพทย์และสังคม บริการผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 กว่า 1,600 ราย (มีนาคม-มิถุนายน ) วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ ได้ยื่นอุทธรณ์ ร่วมกับวิชาชีพที่ตกหล่นอื่นๆ อาทิ เช่น วิชาชีพแพทย์แผนไทย ซึ่งต่อมาได้รับอนุมัติจำนวน 1,000 ตำแหน่ง ในคราวหลังจาก 24 สายงาน ที่มีมติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว
นักสังคมสงเคราะห์ในกระทรวงสาธารณสุขเป็นวิชาชีพหนึ่งใน 35 กลุ่มงาน อยู่ในกรอบโครงสร้างบริการระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ บริการผู้ป่วยโดยตรง รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ร่วมกับกลุ่มวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักวิชาการสาธารณสุข และกลุ่มงานอื่นๆ และในช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ได้ยื่นข้อเรียกร้องการเพิ่มอัตรากำลังและการบรรจุข้าราชการ ให้กับพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว มาตลอด แต่ไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างไร จึงเห็นว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ไม่ให้ความเป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ ทำให้ขาดโอกาส เรื่องการบรรจุ และความก้าวหน้า
สำหรับเหตุผลในการยื่นฟ้องผู้มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุข ต่อศาลปกครอง เนื่องจากได้ดำเนินการเรียกร้อง อุทธรณ์ ทั้งวาจา เอกสาร และวิธีการอื่นๆ ทุกวิถีทาง เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ก.พ. กองบริหารทรัพยากรบุคคล กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น แต่ไม่ได้รับการชี้แจงและได้รับการพิจารณาแต่อย่างไร จึงเห็นว่าศาลปกครองเป็นที่พึ่งสุดท้าย ถ้าไม่ออกมาทำการเรียกร้องขอความเป็นธรรม ก็คงไม่ได้รับการพิจารณาใดๆ เลย นักสังคมสงเคราะห์พิทักษ์สิทธิและช่วยเหลือประชาชนมามากแล้ว บัดนี้เราขอพิทักษ์สิทธิอันพึงมีพึงได้ของเราบ้าง