อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1,050,000 คนทั่วประเทศ ถือมีบทบาทสำคัญที่ช่วยควบคุมและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการทำงานเชิงรุกที่เห็นเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ จากปรากฏการณ์การแพร่เชื้อผ่านเซียนมวยที่สนามมวยลุมพินี นำไปสู่การพบผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด ด้วยการปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ คือ 1. เคาะประตูบ้านครัวเรือนที่รับผิดชอบ เพื่อประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันโควิด 2. คัดกรองกลุ่มปกติและกลุ่มเสี่ยง 3. ส่งต่อกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน 4. เยี่ยมติดตามรายงานผล กระทั่งสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศจนได้รับความชื่นชมจากทั่วโลก โดยเฉพาะเสียงยกย่องจากองค์การอนามัยโลก
กระทั่งเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้ให้นโยบายแก่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบแทนน้ำ อสม.ทั่วประเทศ โดยเพิ่มค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ อสม.500 บาทต่อคนต่อเดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 จนถึง ก.ย. 2564 เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อเป็นกำลังใจและช่วยเหลือค่าเดินทาง ค่าปฏิบัติงาน ให้ อสม.ทุกคนที่มีจิตอาสาและสามารถทำงานป้องกันและควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับงบดังกล่าวได้นำมาจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือโควิด -19 โดยกระทรวงสาธารณสุข จากกรอบวงเงิน 4.5 หมื่นบ้านบาท
ล่าสุดมีกระแสข่าวเศร้าใจว่า ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะ เลขาคณะกรรมการพิจารณางบโควิด-19 กลับไม่เห็นด้วยจะให้ค่าตอบแทนแก่ อสม.เป็นเวลา 1 ปี โดยจะปรับลดลงเหลือเพียงแค่ 3 เดือน แต่พิจารณาใหม่โดยใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ได้รับเป็นเวลา 6 เดือนเท่านั้น
ความไม่สบายใจของพี่น้อง อสม.นับล้านคนสะท้อนผ่านนางนิตยา บุญเรือง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หมู่ที่ 10 ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ออกมาระบายว่า อยากให้เห็นใจ อสม. เพราะช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา อสม.ทุกคนก็ทำงานด้วยความเต็มใจ และทำงานตั้งด่านตรวจร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกวัน เพื่อคอยวัดอุณหภูมิ และบันทึกข้อมูลคนเข้า-ออก หมู่บ้านว่ามีใครมีไข้หรือไม่
อีกทั้งหากมีงานศพและงานบุญ อสม.ก็เข้าไปตั้งเต้นท์คัดกรองคนร่วมงาน และจัดเก้าอี้ให้ผู้ร่วมงานเว้นระยะห่างทางสังคมด้วยตัวเองทันที จึงขออย่าตัดงบประมาณดังกล่าวเลย เพราะเงินจำนวน 500 บาทก็ถือว่าน้อยแล้ว หากทางสภาพัฒน์จะตัดงบ ไม่ต้องให้ดีกว่า เพราะเงินค่าตอบแทน อสม.ก็น้อยอยู่แล้ว ได้เพียงเดือนละ 1,000 บาท แถมยังต้องถูกหักค่าฌาปนกิจศพของ อสม.ทั่วประเทศทุกเดือนอีก ศพละ 50 สตางค์ ซึ่งมันดูเหมือนน้อย แต่ในแต่ละเดือนก็โดนหัก 90-100 กว่าบาทอยู่แล้ว
“อย่าตัดเลย แค่นี้ก็น้อยแล้ว อยากให้ช่วย 1 ปีเหมือนเดิม ถ้าจะตัด ไม่ต้องให้ดีกว่าเพราะ อสม.ทุกคนก็ทำงานด้วยความเต็มใจช่วงโควิดที่ผ่านมา” อสม.จากลพบุรี วิงวอน
นางนิตยายังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากจะช่วยคัดกรองบุคคลเข้า-ออก หมู่บ้านช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ยังต้องลงพื้นที่ ตรวจลูกน้ำยุงลายที่ต้องทำ 1 ครั้งต่อสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไข้เลือดออกกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ และยังลงพื้นที่ตามบ้านเพื่อชั่งน้ำหนักเด็กและวัดความดันผู้สูงอายุในหมู่บ้านด้วย สลับกับงานคัดกรองที่ต้องทำทุกวัน จึงขอความเห็นใจอย่าตัดงบฯช่วยเหลือเลย
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สธ.กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้พูดคุยกับนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แล้ว ยืนยันว่าเรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา แต่ขอให้ สธ.ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งรองปลัด สธ.ที่รับผิดชอบด้านนี้ก็ได้เข้าไปชี้แจงแล้ว
รองนายกฯ กล่าวว่า ค่าตอบแทนดังกล่าวไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นสิ่งตอบแทนให้คนอีกกลุ่มที่ทำงานควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 จนสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ซึ่ง อสม. มีส่วนสำคัญในความสำเร็จนี้ ดังนั้น ก็ต้องดูแล และให้ความสำคัญผู้ปฏิบัติงานตรงนี้ด้วย ซึ่งที่คุยกับเลขาธิการสภาพัฒน์ ตนได้สอบถามและชี้แจงว่า ค่าตอบแทนนี้เรียกว่า “ค่าตอบแทนการเสี่ยงภัย”
“สธ.ขอยืนยันตัวเลขเดิมที่เสนอที่จริงเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยในสภาผู้แทนราษฎรชัดเจนแล้ว ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลก็ยังลุกขึ้นมาทวงถามให้ ซึ่งท่านเหล่านั้นเป็นตัวแทนภาคประชาชนที่ลุกมาให้การดูแลพี่น้องอสม. ซึ่งผมก็รับปากต่อที่ประชุมสภาไปแล้วจะดูแลพี่น้อง อสม.ให้ดีที่สุด สมกับที่พวกเขาเสียสละเพื่อส่วนรวม และขอยืนยันว่างบตรงนี้ถือว่าเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ทำเพื่อหวังผลประโยชน์ใดๆ เลย” รองนายกรัฐมนตรีให้คำมั่น
ด้วยความวิงวอนของ อสม. เชื่อว่าสุดท้ายสภาพัฒน์จะไม่ตัดงบเหลือ 3-6 เดือน พร้อมจ่ายค่าตอบแทน 1 ปี ตามเงื่อนไขเดิมที่รัฐบาลประกาศไว้ มิเช่นนั้นหากไม่รักษาสัญญานอกจากจะสร้างความผิดหวังและทำลายขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่แล้วยังทำลายศรัทธาที่มีต่อรัฐบาล