ปธ.อนุ กมธ.ปรองดอง รับฟังตัวแทนกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง ก่อนสรุปส่ง กมธ.ชุดใหญ่ ชี้ง่ายสุดคือแก้ รธน. “จตุพร” ชี้ไม่ปรองดองขัดแย้งก็ยังอยู่ “ยะใส” รับทุกวันนี้คุยกับแดงมากกว่าเหลือง ถ้าคนไทยรวมใจก็ผ่านไปได้
วันนี้ (23 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ใน กมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังที่ประชุมได้เชิญตัวแทนกลุ่มที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายสุริยะใส กตะศิลา ตัวแทนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมทั้งนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม มาร่วมรับทราบข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ
โดยนายชวลิตกล่าวว่า คณะอนุ กมธ.ได้ฟังข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ ซึ่งปัจจุบันบ้านเมืองเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งของฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา รวมเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องหลอมลวมทุกภาคส่วนให้ได้รับความสามัคคี ทุกคนได้ตกผลึกทางความคิดว่า ความเห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่สิ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองตลอดไป ทำอย่างไรจึงจะลดความเกลียดชังของแต่ละฝ่ายแล้วหันหน้ามาร่วมมือกัน การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับความปรองดองสมานฉันท์เพียงอย่างเดียว ยังมีสิ่งอื่นที่อนุ กมธ.ต้องสร้างความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆเพื่อลดความขัดแย้งเช่น การอภัย การขอโทษต่อสังคม การให้เกียรติ การเยียวยา เป็นสิ่งที่อนุกมธ.ให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของสังคม ทั้งนี้จะนำข้อสรูปทั้งหมดที่ได้เสนอต่อกมธ.ชุดใหญ่เพื่อเสนอต่อสภาฯและรัฐบาลต่อไป
“ในเรื่องข้อเสนอการนิรโทษกรรมนั้น ก็จะเป็นข้อหนึ่งที่เสนอไปยังรัฐบาลว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่คงไม่อาจหาญเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเอง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้เคยพูดไว้อยู่แล้วทั้งในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และในยุทธศาสตร์ชาติ ส่วนการชุมนุมของนักศึกษาในเวลานี้ คิดว่ารัฐบาลควรรับฟังและสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทราบไทม์ไลน์การเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทั้งนี้ทางอนุ กมธ.จะเชิญตัวแทนนิสิต นักศึกษา มาให้ข้อมูลด้วย”
ด้านนายสุริยะใสกล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาจะเห็นว่าคนไทยรวมใจเป็นหนึ่งเดียว หากทำได้อย่างนี้ก็เชื่อว่าความขัดแย้งจะผ่านไปได้ ตนพร้อมที่จะนำความเห็นของอนุ กมธ.ไปพูดคุยกับมวลชน ทุกวันนี้ตนคุยกับคนเสื้อแดงมากกว่าคนเสื้อเหลืองเสียอีก และตนพร้อมรับฟังเพื่อให้ข้อเสนอแนะในทุกเวที
ขณะที่นายจตุพรกล่าวว่า เหตุการณ์วันเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว จ.นครพนม เมื่อปี 2508 จนมาถึงการออกนโยบาย 66/2523 ใช้เวลา 15 ปี เช่นเดียวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 15 ปีเช่นกัน และยังไม่แน่ใจว่าจะเข้าสู่ปีที่ 16 หรือไม่ เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ต่อไปยังมีความขัดแย้งอยู่ หากยังไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ ดังนั้นเราต้องไม่ตั้งคำถามว่าใครติดคุกมากกว่าใครหรือใครติดคุกน้อยกว่ากัน และในความเห็นต่างจะต้องไม่มีใครมาตาย ดังนั้นอะไรที่เป็นทางออกของประเทศต้องเร่งดำเนินการ และในฐานะที่ตนมีผลประโยชน์ก็จะไม่ขอพูดถึงเรื่องของการนิรโทษกรรม