xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง กม.กีฬามวย ฉบับคุมมวยเด็ก ส่อแท้ง! ครม.ไฟเขียว กก.ถอนพ้นกฤษฎีกา คณะ 8 ชี้อาจไม่สอดคล้อง รธน.- กระทบวิถีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ร่าง พ.ร.บ.กีฬามวย” ส่อแท้ง! ระยะยาว ครม.ไฟเขียว กก.ถอนร่างฯ พ้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) หลัง บอร์ด กกท. อ้างรับฟังความเห็น “บุคคลวงการกีฬามวย"” ทั่วประเทศ ยังไม่ได้ข้อสรุป ยันบางมาตราอาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ-กม.คุ้มครองเด็ก เฉพาะกรณี “คุมอายุนักมวย” ให้มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ชี้หากบังคับใช้กฎหมายตามหลักการที่แก้ไข อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน และวงการมวยไทย

วันนี้ (21 ก.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีมติอนุมัติให้ถอนร่างพระราชบัญญัติกีฬามวย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) เนื่องจากได้รับรายงานจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ทีได้ทำการศึกษาทบทวนหลักการเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ

เห็นว่า การแก้ไขหลักการของร่างพระราชบัญญัติกีฬามวย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.. ในชั้นตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา พบว่า บางมาตราอาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ในด้านการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือการปฎิบัติต่อเด็ก ซึ่งการแก้ไขหลักการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ตรงต่อสภาพข้อเท็จจริงในสังคม ส่งผลกระทบต่อกีฬามวยมวยไทยในหลายด้าน เช่น ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านการพัฒนากีฬามวยไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ การศึกษาทบทวน ของ กกท.ดังกล่าว เป็นไปตามที่่ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) มอบหมายให้ กกท.ทบทวนหลักการให้มีแนวทางที่ชัดเจนและสามารถบังคับให้จริงได้ แต่ บอร์ด กกท. ให้ความเห็นว่า จากการรับฟังความเห็นของบุคคลในวงการกีฬามวยทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปี 2562 ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการกำหนดอายุของนักมวยที่จะเข้าร่วมแข่งขันกีฬามวยไทย และการบังคับใช้กฎหมายตามหลักการที่แก้ไขนั้นอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน

สำหรับร่างพระราชบัญญัติกีฬามวย (ฉบับที่ ..) พ.ศ... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ซึ่ง ครม.เห็นชอบให้ถอนร่างฯ ออกจากคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8 ซึ่งได้พิจารณาตรวจร่างปรับแก้หลักการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3) คำว่า “กีฬามวย” “นักมวย” “ผู้ตัดสิน” “บุคคลในวงการกีฬามวย” และ “พนักงานเจ้าหน้าที่”, แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การประชุม และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง มาตรา 7 มาตรา 8 วรรคสองและมาตรา 9)

เพิ่มเติมการส่งเสริมสวัสดิการแก่บุคคลในวงการกีฬามวย กำหนดให้มีการยกย่องครู สอนศิลปะมวยไทยและนักมวยแห่งชาติ และแก้ไขเพิ่มเติมการส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ และเผยแพร่กิจกรรม กีฬามวยให้รวมไปถึงศิลปะมวยไทย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 12 วรรคหนึ่ง เพิ่มมาตรา 12/1 และแก้ไขเพิ่ม มาตรา 13 วรรคหนึ่ง)

แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย และการแต่งตั้ง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17 และมาตรา 18), แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การแข่งขันกีฬามวยของนักมวยที่มีอายุตํ่ากว่าสิบห้าปี (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26 วรรคสอง)

แก้ไขเพิ่มเติมการจดทะเบียน คุณสมบัติ และการเพิกถอนทะเบียนนักมวย ผู้ฝึกสอน และหัวหน้าค่ายมวย และการขอใบอบุญาตผู้ตัดสิน ผู้จัดการนักมวย ผู้จัดรายการแข่งขันมวย และนายสนามมวย (เพิ่มเติมมาตรา 28/1 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 และมาตรา 34) ,กำหนดให้ผู้จัดรายการแข่งขันกีฬามวยที่มีผู้เยาว์เข้าร่วมแข่งขันต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 47 และเพิ่มมาตรา 47/1)

เพิ่มกระบวนการร้องทุกข์ (เพิ่มมาตรา 47/2) และ เพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขการจัดการแข่งขันกีฬามวยสำหรับนักมวย ที่มีอายุตํ่ากว่าสิบห้าปีบริบูรณ์ และกำหนดให้ความผิดตามมาตรา 56 วรรคสอง เป็นความผิดที่สามารถเปรียบเทียบคดีได้ (เพิ่มมาตรา 48/1 และเพิ่มมาตรา 61/1)


กำลังโหลดความคิดเห็น