xs
xsm
sm
md
lg

แจง ทอ.เปิดน่านฟ้าให้ทหารอียิปต์หลังพบไร้ปัญหาความมั่นคง เป็นหน้าที่ กต.ต้องประสานมาตรการควบคุมโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย โฆษกกองทัพอากาศ(แฟ้มภาพ)
โฆษกกองทัพอากาศแจงเปิดน่านฟ้าให้เครื่องบินทหารอียิปต์ หลังกระทรวงต่างประเทศประสานมา และตรวจสอบพบว่าไม่มีปัญหาด้านความมั่นคง เมื่อเครื่องลงเป็นหน้าที่ของ กต.ต้องประสานสถานทูตเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และข้อบังคับ ศบค.

วันนี้ (14 ก.ค.) พล.อ.ท.พงษ์ศักดิ์ เสมาชัย โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวกองทัพอากาศอนุญาตเปิดน่านฟ้าให้อากาศยานทหารอียิปต์เข้าประเทศไทยว่า ขั้นตอนคือสถานทูตของประเทศนั้นๆ จะติดต่อไปยังกระทรวงต่างประเทศ และเมื่อกระทรวงต่างประเทศเห็นว่าเป็นเครื่องบินทหารก็จะประสานมายังกองทัพอากาศ พิจารณาว่ามีความขัดแย้งเรื่องความมั่นคงหรือไม่ หลังกองทัพอากาศตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคง และเคยมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็ตอบกลับไปยังกระทรวงการต่างประเทศว่าไม่ขัดข้อง ถือเป็นการทำหน้าที่ตามปกติของกองทัพอากาศที่ต้องพิจารณาในส่วนที่ต้องรับผิดชอบ

“กองทัพอากาศ ด้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิจารณาในกรณีที่เป็นเครื่องทหารว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และเมื่อเครื่องมาลงในพื้นที่แล้วทุกอย่างต้องเข้าสู่มาตรการที่ได้กำหนดไว้ ไม่ใช่ว่ากองทัพอากาศมีอำนาจพิจารณาอยู่ในขอบเขตที่จำกัด” โฆษก ทอ.ระบุ

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับขั้นตอนการขอบินผ่าน และขึ้นลงในประเทศไทย ของกองทัพอากาศ คือ 1. สถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ส่งคําขอไปยังกระทรวงต่างประเทศ (กต.) 2.กต. พิจารณาเหตุผลความจําเป็นและทําหนังสือถึง กองทัพอากาศเพื่อขออนุมัติให้เครื่องบินทางทหารบินผ่านและขึ้นลงในประเทศไทย ภายใต้ข้อพิจารณาด้านความมั่นคงปลอดภัยทางการทหาร ความเป็นพันธมิตรและพันธะทางทหารที่มีต่อกัน

3. กองทัพอากาศพิจารณากฎ ระเบียบ และข้อปฏิบัติทางทหารสอดรับกับอํานาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยมีหัวข้อการพิจารณา ดังนี้

3.1 การบินผ่าน และขึ้นลงในประเทศไทยอยู่ในความดูแลของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย และ ศูนย์ยุทธการทางอากาศ กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นไปตามกฎการบินสากล และไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

3.2 คําสั่ง คค.ที่ 90/2553 ลง 24 มีนาคม 2553 เรื่องมอบอํานาจตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ในการลงนามแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

3.3 อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 พระราชกําหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 3 การปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็น อากาศยาน เรือ รถยนต์ หรือพาหนะอื่นใด หรือในการใช้เส้นทางคมนาคม ไม่ว่าทางอากาศ ทางน้ำ หรือทางบก ยกเว้นเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือเจ้าหน้าที่ที่ประจํายานพาหนะ ซึ่งจําเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจ และมีกําหนดเดินทางออกชัดเจน

และเมื่อกองทัพอากาศพิจารณาและลงนามอนุมัติเรียบร้อยแล้ว จะส่งเรื่องให้กระทรวงการต่างประเทศ ดําเนินการต่อไป จากนั้นกระทรวงการต่างประเทศส่งเรื่องให้สถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ และสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ดําเนินการประสานสนามบินปลายทาง

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ กับกระทรวงการต่างประเทศจะต้องประสานกันเรื่องการป้องกัน โรคติดต่อให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและตามประกาศข้อบังคับของ ศบค. และในการดําเนินการพิธีการตรวจคนเข้าเมืองจะมีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินท่าอากาศยาน (EOC) ตรวจคัดกรองโรคติดต่อ และการดําเนินการด้าน State Quarantines/Local Quarantine ในการดูแลควบคุมต่อไป

ภารกิจอากาศยานอียิปต์เป็นภารกิจบินเดินทางประจำในลักษณะของการบินของอากาศยานของรัฐ/State Aircraft จากต้นทางถึงปลายทาง เป็นความชอบธรรมทางกฎหมาย ในการขอลงจอดเพื่อเติมน้ำมัน พักเครื่องและลูกเรือ เฉกเช่นการบินของอากาศยานของประเทศไทยที่สามารถจะประสานขอลงจอดพักเครื่องและลูกเรือ ในระหว่างต้นทางถึงปลายทางได้


กำลังโหลดความคิดเห็น