โฆษก ทบ. ชี้แจง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง นศท. ระบุ ผู้ปกครองไม่ติดใจหากมีความเสียหาย ไม่เกี่ยวเรื่องทางแพ่ง-อาญา ย้ำต้องมั่นใจคุณสมบัติผู้รับการฝึก ให้ข้อเท็จจริง ยันไม่ได้จำกัดสิทธิฟ้องร้อง ให้ความสำคัญความปลอดภัย
วันนี้ (13 ก.ค.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก ทบ. กล่าวถึงกรณีที่การโพสต์แบบรายงานตัวนักศึกษาวิชาทหารที่ระบุข้อความ “หากมีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างการฝึกวิชาทหาร ผู้ปกครองไม่ติดใจจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ และกองทัพบก” ลงสื่อโซเชียลมีเดีย ว่า การเข้าเรียนวิชาทหารตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ. 2503 นั้น ได้ระบุกำหนดคุณสมบัติไว้ว่า บุคคลผู้ประสงค์จะเข้าศีกษา จะต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป และสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป) และที่สำคัญคือ ผู้สมัครต้องมีร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรค มีสภาพร่างกาย หรือจิตใจ ที่ไม่ขัดต่อการรับราชการทหาร
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2525 ทางกองทัพบกจึงได้กำหนดระเบียบของการรายงานตัวเข้าศึกษาโดยให้ผู้ปกครองเซ็นยินยอม มีรายละเอียด 3 ประการ คือ ประการแรก ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ยินยอมให้รายงานตัวเข้าฝึกวิชาทหาร ประการที่สอง ผู้ปกครองต้องยืนยันว่า นศท. ผู้นี้มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ สามารถเข้าฝึกวิชาทหารได้ตามหลักสูตรที่กำหนด ส่วนประการที่สาม คือ หากมีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างการฝึกวิชาทหาร ผู้ปกครองไม่ติดใจจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ และกองทัพบก ซึ่งตามที่ระบุนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องในทางอาญา
ซึ่งทางผู้ปกครองต้องมั่นใจในคุณสมบัติของผู้เข้ารับการศึกษาว่ามีความพร้อมจริง เพราะกระบวนเข้ารับการศึกษานี้ดำเนินการในลักษณะด้วยความสมัครใจ หากผู้ปกครองให้ข้อมูลไม่ตรงข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกับบุคคลนั้น
ทั้งนี้ เพื่อความเสมอภาค และความคุ้มครองในด้านกฎหมาย ทั้งต่อตัวนักศึกษา เจ้าหน้าที่ และ กองทัพบก เอกสารดังกล่าวไม่ได้ไปจำกัดสิทธิ์การฟ้องร้องตามกฎหมายทั้งในทางแพ่ง และ อาญา หากมีความเสียหายเกิดขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันกว่า 50 ปีมาแล้ว ยังไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายใดๆ อย่างไรก็ตาม ในการฝึกวิชาทหารของนักศึกษาวิชาทหารทางผู้บังคับบัญชา ได้ให้ความสำคัญอย่างมากมาตลอดในเรื่องของความปลอดภัย