โฆษก ศบค.เผยไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 5 รายมาจากต่างประเทศ เผยผลสำรวจระหว่างผ่อนคลายคนไทยการ์ดตก ค้านทราเวลบับเบิล มั่นใจ รบ.เอาอยู่คุมระบาดระลอกสอง วอนประชาชนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้าอยู่เสมอ
วันนี้ (9 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 5 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,202 ราย หายป่วยสะสม 3,085 ราย ซึ่งไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดสะสมคงที่ 58 ราย และไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกัน 45 วัน สำหรับผู้ป่วย 4 ราย เดินทางมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นชาย 3 คน อายุ 38, 40 และ 54 ปี เป็นหญิง 1 คน อายุ 42 ปี ทั้งหมดมีอาชีพรับจ้าง เดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 2 ก.ค.เข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐในกรุงเทพฯ และ จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อโควิดในวันที่ 7 ก.ค. ทั้งหมดไม่มีอาการ ส่วนรายที่ 5 เดินทางมาจากประเทศอียิปต์ เป็นชายอายุ 22 ปี อาชีพนักศึกษา เดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 8 ก.ค.ผ่านการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคพบว่ามีอาการ ได้กลิ่น และการรับรสลดลง ผลตรวจพบเชื้อในวันที่ 8 ก.ค. สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 12,164,173 ราย และเสียชีวิต 522,029 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยมีตัวเลขเป็นศูนย์ยังสบายใจไม่ได้ เนื่องจากทั้งโลกยังวิกฤตอยู่ จะเห็นได้ว่ามีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันเดียวกว่า 2 แสนราย นอกจากนี้ มีการสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการสำรวจเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรน โดยมีการเชิญชวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาร่วมดำเนินการ 77 จังหวัด โดยให้ อสม.ไปทำแบบสอบถามกับประชาชนใช้เวลา 7 สัปดาห์ระหว่างวันที่ 15 พ.ค. - 2 ก.ค.และนำมาคำนวณพฤติกรรมของคนไทยว่าเป็นอย่างไร โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 407,008 กว่าคน คำถามส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการป้องกันตนเอง โดยค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 0.84 ถือว่าดี แต่ถ้าแยกเฉพาะพฤติกรรมการสวมใส่หน้ากากอนามัยได้ 0.92 ถือว่าดี ส่วนเรื่องการกินร้อน ช้อนของตนเองอยู่ที่ 0.90 ล้างมือ 0.88 ก็ถือว่าดี แต่เรื่องการเว้นระยะห่างและเอามือแตะหน้า แตะจมูกตัวเลขจะลดลงมาเรื่อยๆ และชุดข้อมูลนี้จะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสาธารณสุข และด้านการควบคุมโรคนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เราจะมีการสำรวจประมาณ 5-6 รอบก็จะทำให้สามารถปรับปรุงตัวเลขของแต่ละจังหวัดให้ดีขึ้นได้
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า หากมาดูพฤติกรรมการผ่อนคลายในระยะที่ 2 มาถึงวันที่ 1 ก.ค.หรือผ่อนคลายระยะที่ 5 กราฟแต่ละพฤติกรรมต่ำลง ความร่วมมือในแต่ละด้านลดลง ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์พบว่าลดลงในทุกพฤติกรรม ภาพรวมจากเดิม 85.3 เปอร์เซ็นต์ พอมาถึง 1 ก.ค.เหลืออยู่ 80.7 เปอร์เซ็นต์ ถ้าตั้งคำถามว่าการ์ดตกหรือไม่ เห็นภาพชัดว่าการ์ดตกลงมาแน่นอน ชุดพฤติกรรมของเราก็ปรับตามมาตรการ ในระยะหลังมีความเสี่ยงสูงต้องพึงระวังเอาไว้ด้วย ส่วนคำถามว่าสนับสนุนให้นำต่างชาติเข้ามาเมืองไทย การจับคู่การเดิน การเดินทางระหว่างประเทศที่มีความปลอดภัยจากโควิด-19 สูง (ทราเวลบับเบิล) สนับสนุนหรือไม่ ปรากฏว่าไม่สนับสนุน 45.2 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการเข้ามาของประเทศอื่นๆก็ไม่เห็นด้วย 69.2 เปอร์เซ็นต์ โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้มาวางแผนในการทำงานต่อจากนี้ด้วย ขณะเดียวกันประชาชนยังแสดงความมั่นใจว่ารัฐบาลยังควบคุมการแพร่ระบาดระลอก 2 โดย 14.8 เปอร์เซ็นต์มั่นใจมาก และ 40.5เปอร์เซ็นต์มีความมั่นใจ
เมื่อถามว่า การเดินทางมาของกลุ่มแขกพิเศษของรัฐบาลและกลุ่มที่เดินทางมาด้วยข้อตกลงพิเศษซึ่งเป็นชาวต่างชาติ เมื่อคนกลุ่มนี้เดินทางเข้ามาประเทศไทยแล้ว คณะที่ดูแลกลุ่มนี้จำเป็นต้องกักตัว14 วันด้วยหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ได้มีการพูดคุย โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพานิชย์ รอง ผบ.ทบ.ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้นำแต่ละเรื่องมานั่งพูดคุยและเห็นวิธีการแจกแจงแต่ละเรื่อง เพราะฉะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกักตัวต่ออีก 14 วัน หากถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไร จริงๆ เราเคยทำมาก่อนแล้ว เช่น กลุ่มคนที่มาจากต่างประเทศที่สุวรรณภูมิเรามีเจ้าหน้าที่ไปตรวจเช็ก กลุ่มเหล่านี้ทำงานมาตลอดไม่จำเป็นต้องกักตัว 14 วัน มีการหมุนเวียนกันเข้าเวร แต่ระหว่างนั้นต้องมีทักษะในการดูแลตัวเองอย่างดี ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องกักตัว 14 วันแต่ต้องสังเกตอาการตัวเอง ต้องมีระบบการเช็กอัพสุขภาพ นี่คือความมั่นใจในระบบสาธารณสุขไทย
เมื่อถามต่อว่า การเปิดให้กลุ่มที่เข้ามารักษาพยาบาลในไทย ที่เราจะเริ่มนำร่องในโรงพยาบาลเอกชนถือเป็นการเอื้อให้กับภาคเอกชนหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ถ้าถามว่าเอื้อให้ภาคเอกชนไหมต้องตอบว่าเอื้อ แต่ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ การดูแลผู้ป่วยต่างชาติเราทำมาก่อนหน้าจะมีโควิด-19 อยู่แล้ว ซึ่งเราจะเอากลุ่มเหล่านี้มาดู และนอกจากดูเรื่องของการรักษาตามภาระเดิมที่มีอยู่แล้ว จะต้องดูเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและต้องปลอดภัย ซึ่ง พล.อ.ณัฐพล ได้ขอนำรายละเอียดมาดูแล้ว โดยมีการลงทะเบียนผู้ป่วยที่จะเข้ามา 1,385 รายชื่อ และผู้ติดตามอีกประมาณ 1,000 คน ที่จะเข้ามาในเดือน ก.ค., ส.ค. และ ก.ย. หากเป็นญาติต้องนอนในโรงพยาบาลด้วย 14 วัน และขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนสมัครเข้ามาแล้ว 85 แห่ง นอกจากนี้ หากทั้งหมดอยากเที่ยวต่อก็จะจัดแพคเกจให้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการป้องกันแรงงานผิดกฎหมายฝ่ายมั่นคงได้หารือว่าจะต้องตรวจตามแนวชายแดนแต่อาจไม่ได้ทั้งหมด พล.อ.ณัฐพลจึงขอให้กองกำลังฝ่ายมั่นคงมาเพิ่มจุดตรวจสนธิกำลังในถนนเส้นหลักที่จะเข้ามากลางเมือง ตั้งด่านจุดตรวจให้เข้มขึ้นมากขึ้น เพื่อป้องปรามกักกันได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ อสม.หากพบคนแปลกหน้าในชุมชนให้ทำหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่ได้ด้วย