“แหม่มโพธิ์ดำ”-ชาวเน็ต รุมจวก “ส.ส.ก้าวไกล” ดรามาลงรูปเก่า และรูปลิงอินโดฯ ขยี้ซ้ำแบนกะทิไทย ทั้งที่ควรปกป้อง เจ้าตัว อ้างเคยศึกษาเรื่องนี้ จึงมีข้อมูลอีกด้าน โดยไม่ยอมชี้แจง ทำไมเอาภาพเก่าและลิงอินโดฯมาลง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (7 ก.ค. 63) ขณะที่หลายฝ่ายต่างอาทรร้อนใจกับความเข้าใจผิดที่ต่างประเทศ มีต่อการใช้ลิงเก็บมะพร้าว จนเข้าข่ายทรมาน หรือทารุณกรรมสัตว์ และนำมาสู่การสั่งแบนกะทิของไทย แต่ทว่า คนที่ควรจะมีส่วนช่วยเหลือคนไทย ช่วยเหลือเกษตรกรไทย และธุรกิจไทย กลับช่วยซ้ำเติมเสียนี่
เรื่องนี้ เพจเฟซบุ๊ก “แหม่มโพธิ์ดำ” โพสต์ข้อความกล่าวถึงกรณี นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นำภาพลิงจากสื่ออินโดฯ เชื่อมโยงประเด็นยุโรปกีดกันทางการค้าอ้างทรมานลิงเก็บมะพร้าวว่า
“ปกติจะไม่ยุ่งเรื่องการเมืองเลย แต่เคสนี้กูว่ามันเกินไปหน่อยปะวะ เมื่อ ส.ส.พรรคก้าวไกล นำภาพลิงอินโด และภาพเก่าๆ ที่คนถ่ายไว้ (ภาพแรกถ่ายที่ไทยปี 53 ภาพที่เหลือนำมาจากสื่ออินโดฯ) มาลงในจังหวะที่กำลังมีดรามาจากการที่ประเทศไทยถูกใส่ร้ายเรื่องการใช้ลิงเก็บกะทิ จนหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเกิดขึ้นในไทยไม่นานนี้ และเป็นสาเหตุให้ไทยถูกแบนสินค้ากะทิ
ต้องแยกก่อน ระหว่างวิถีชาวบ้าน ที่มีการเลี้ยงลิงในสวน เอามาเก็บกะทิโชว์ (ส่วนตัวกูก็ไม่สนับสนุนนะ) ถ้าเข้าข่ายทรมานสัตว์ เราก็มีกฎหมายตรงนี้อยู่ สามารถดำเนินคดีได้ แจ้งความได้เลย เพจประสานเจ้าหน้าที่อุทยานประจำ เขาก็รีบดำเนินการให้
ปัญหาหลักจากเรื่องนี้ คือ มีกลุ่มรักสิ่งแวดล้อมที่โยงมั่วไปหมด หาว่าธุรกิจกะทิไทย ใช้ลิงในการเก็บมะพร้าว ทั้งที่ความเป็นจริง กะทิบ้านเราเกรดคุณภาพมาก ส่งขายทั่วโลก ต้องใช้มะพร้าวเป็นล้านลิตร ต้องใช้ลิงกี่ตัว เพ้อเจ้อ แทนที่นักการเมือง จะช่วยปกป้องธุรกิจไทยที่กำลังถูกใส่ร้าย กลับดึงดรามาโดยไม่เช็กข้อมูลแบบนี้ กูว่าใช้ไม่ได้ กูยืนยันนะ
ในฐานะที่อยู่เมืองนอกมาตลอดเกินครึ่งชีวิต กะทิไทยสุดยอด อร่อยสุดแล้ว ถ้าจะมาเจอใส่ร้ายให้ธุรกิจเขาเสียหายโดยไม่มีหลักฐาน คนไทยก็ต้องช่วยกันปกป้อง ส่วนกลุ่มค้ากะทิไทย ก็ต้องติดสลากชัดเจน ว่าไม่มีการใช้สัตว์ในอุตสาหกรรม คนซื้อก็จะได้สบายใจด้วย”
ทั้งนี้ วันนี้เช่นกัน เฟซบุ๊ก Nitipon Piwmow - นิติพล ผิวเหมาะ ของ นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความระบุว่า
“ก่อนที่ผมจะมาเป็น ส.ส. ผมทำงานคลุกคลีกับงานสิ่งแวดล้อมมาก่อน
ผมติดตามประเด็นเรื่องสัตว์ที่เกี่ยวโยงกับระบบเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขในประเทศไทย และในต่างประเทศมาพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสัตว์ในไทยที่เกี่ยวข้องกับการทำมาค้าขายกับต่างประเทศ
ปัญหาและอุปสรรคที่ประเทศเราเผชิญหน้าในการค้าขายกับต่างประเทศ ไม่ว่าเรื่อง กุ้ง ไก่ ปลา เนื้อสัตว์ และมาล่าสุดคือ เรื่องลิงกับผลิตภัณฑ์มะพร้าว
จะเห็นได้ว่า การทำธุรกิจใดๆ ก็ตามที่มีสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้องจะต้องถูกตั้งคำถาม
เหตุผลเพราะว่า ปัจจุบันการทำธุรกิจในรูปแบบของความรับผิดชอบกำลังเป็นเรื่องที่บริษัทชั้นนำหลายๆ ประเทศทั่วโลก ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เช่น การเข้าร่วมโครงการด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare Policy) และเขาพยายามอย่างมากเพื่อนำบริษัทของตนเข้าสู่ระบบนั้น
และปัญหาเรื่องกะทิไทยก็ไม่ใช่ปัญหาแรกที่เราเผชิญมา เราโดนกดดันหนักหน่วงมาก่อนหน้านั้นแล้วทั้งเรื่อง กุ้ง และปลา แม้กระทั่งเรื่องการส่งออกเนื้อสัตว์
เรื่องตลาดการส่งกะทิและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ทั่วโลกเขายอมรับในคุณภาพกะทิจากประเทศไทย ถึงแม้เราจะมียอดการค้ารองจากหลายประเทศในเอเซีย เนื่องจากปริมาณพื้นที่การปลูกและปริมาณการผลิตที่น้อยกว่า แต่กะทิไทยได้รับความนิยมติดอันดับต้นๆ ที่มาพร้อมรายการเมนูอาหารไทยที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก
ในฐานะที่เป็นคนไทย ผมภาคภูมิใจที่ได้เห็นสินค้าไทยตั้งอยู่บนแผงขายบนร้านสรรพสินค้าในต่างประเทศ และผมอยากให้มีสินค้าไทยมากมายหลายรายการไปขายตามที่ต่างๆ ทั่วโลก
แต่สิ่งหนึ่งเราต้องมาทบทวนกันให้ดี คือ การที่เราจะทำมาค้าขายกับใคร ถ้าเราถูกตั้งคำถามเราต้องมีคำตอบที่จริงใจให้กับประเทศคู่ค้าของเรา เพราะนั่นคือการค้าขายที่เป็นระดับสากล
เนื่องจากปัจจุบันการประกอบธุรกิจใดๆ ทั่วโลกเขาได้เดินเข้าสู่เรื่องของการมีส่วนร่วม การปกป้อง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งเรื่องการรับผิดชอบที่มีเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมมาเป็นองค์ประกอบในการทำธุรกิจ
ถ้าผู้ประกอบการใดก็ตามทำธุรกิจโดยหวังแข่งขันเพื่อสร้างแต่ผลกำไรโดยไม่สนใจกับองค์ประกอบเหล่านั้น ธุรกิจเหล่านั้นย่อมสร้างความเคลือบแคลงใจให้กับประเทศคู่ค้าของไทย
แต่ถ้าเรามีคำตอบที่ชัดเจน ไม่ว่าในเรื่องบทสรุปของการแก้ไข มันก็จะทำให้เรามีทางออกง่ายขึ้น
เรื่องกะทิไทยที่ถูกแบนในวันนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิด ถ้าใครที่ได้ติดตามข่าวสารเรื่องนี้มาโดยตลอด จะทราบว่าทางประเทศคู่ค้าหลายประเทศเขาได้ตั้งคำถามเรื่องการใช้ลิงเก็บมะพร้าวมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2558 ซึ่งมันเป็นเวลานานพอสมควร
ถ้าเรามีคำตอบที่ชัดเจนให้กับคำถามเหล่านั้น เหตุการณ์วันนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น
วันที่ผมทำงานกับภาคประชาสังคมในฐานะประชาชน ผมทำงานเพื่อเก็บข้อมูลปัญหาและความผิดพลาดในอดีตที่หน่วยงานรัฐบางกลุ่มอาจจะทำงานบ้าง แต่ไม่สามารถทำได้เต็มที่ มาผนวกเข้าด้วยกันเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหานั้น
ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ ในวันนี้ผมมาเป็น ส.ส. ผมก็อยากจะนำเสนอกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเพื่อให้มีการแก้ไข เพื่อการเดินหน้าของประเทศไทยต่อไป
อนึ่ง สำหรับข้อความที่ผมโพสต์ไป หลายคนพยายามใช้มาเป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อโจมตีผมและพรรคก้าวไกล ผมก็ไม่สามารถไปห้ามท่านได้ แต่ผมเชื่อว่าประชาชนที่เขาติดตามข่าวสารนี้อย่างใกล้ชิดจะเข้าใจถึงเนื้อในของปัญหา จากข้อมูลความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้น ขอบคุณครับ
#ทนายต้น #saveทุกชีวิต #สิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์
ที่สำคัญ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 63 เฟซบุ๊ก Nitipon Piwmow - นิติพล ผิวเหมาะ โพสต์ข้อความว่า
“การถูกบังคับให้ทำงานแบบไม่ได้รับการดูแลและไม่สมัครใจ
คุณคิดว่าเค้าจะทรมานมั้ย
แล้วถ้าเค้าไม่สามารถพูดได้ล่ะ เค้าจะต่อสู้เพื่อสิทธิอะไรของเค้าได้บ้าง??? #ลิงเก็บมะพร้าว
#ทนายต้น #saveทุกชีวิต #สิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ พรรคก้าวไกล - Move Forward Party เครือข่ายสิ่งแวดล้อม ก้าวไกล (พร้อมกับลงภาพเก่าและภาพลิงอินโดฯจนชาวเน็ตต่างรุมจวก พร้อมตั้งคำถาม ทำไปทำไม แทนที่จะปกป้องกลับซ้ำเติม ปัญหา ฯลฯ)
ขณะเดียวกัน นายนิติพงษ์ ห่อนาค หรือ ดี้ นักแต่งเพลงชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว ว่า นิทานเรื่องลิงกับต้นมะพร้าว สอนให้รู้ว่า...ที่แท้มันเป็นนิทานเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ #ฝรั่งโง่ทีไรคนไทยเดือดร้อนทุกที
จากนั้น ดี้ นิติพงษ์ โพสต์ข้อความเพิ่มเติมอีกว่า วิถีตะวันออก..ถ้าไม่รู้จัก..จะเคารพสิ่งนั้น แล้วค่อยค้นหาอย่างสุภาพ วิถีตะวันตก...ถ้าไม่รู้จัก..จะเหยียดหยามคุกคามไว้ก่อน มันเป็นมาหลายพันปีแล้ว...และมันจะไม่มีวันหายไป #จิตใต้สำนึกของการล่าอาณานิคมจะคงยังฝังอยู่เสมอ
สำหรับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่า ตนเป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ท่ามกลางสวนยางพาราและสวนมะพร้าว เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ชาวต่างชาติอาจไม่เข้าใจวิถีชีวิตชาวสวนมะพร้าว ชาวสวนปฏิบัติต่อลิงที่เก็บมะพร้าวเป็นอย่างดี ให้ความเมตตา ดูแลเหมือนลูกหลาน หากชาวต่างชาติมองจากภายนอกหรือมองผิวเผินก็นึกว่าเป็นการทรมานสัตว์ ซึ่งความจริงไม่ใช่ สมัยโบราณเรายังใช้ม้าลากรถ ใช้วัวควายไถ่นา ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่สมัยนี้ก็มีคนคิดอะไรแปลกๆ เราก็ฟังเฉยๆ อย่าไปตื่นเต้นมากไม่เช่นนั้นจะทำอะไรไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนข้อมูลที่น่าสนใจ ก็คือ เพจ “Drama-addict” เผยเบื้องหลังเรื่องนี้ และตัวเลขเปรียบเทียบการใช้ลิงเก็บมะพร้าว ว่า
“มีข้อมูลจากคนในธุรกิจอุตสาหกรรมมะพร้าวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องที่อังกฤษจะบอยคอตกะทิจากไทย จริงๆ คนที่ให้ข้อมูลนี่ เขาส่งเรื่องมาหลายปีละ ตั้งแต่ช่วงปี 2016 เพราะช่วงนั้นมันมีชาวต่างชาติเข้ามาในไทย แล้วไปถ่ายคลิปลิงเก็บมะพร้าว เอาไปประโคมใน ตปท. บอกว่า เราใช้แรงงานสัตว์ แต่เพิ่งเป็นประเด็นหนักๆ กันช่วงนี้
ผมชื่อ Xx โทร Xxxxxxx ทำโรงงานแปรรูปมะพร้าวมา 15 ปี เรารับซื้อมะพร้าวจากสวนมะพร้าวในสมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบ จากประสบการณ์ไม่มีการใช้ลิงเก็บนะครับ ใช้ไม้สอยทั้งนั้น สวนที่ใช้ลิงก็มีจริง แต่เป็นส่วนน้อยและอยู่ในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว สาเหตุที่สวนเหล่านั้นใช้ลิง เพราะไม่มีแรงงานภาคเกษตร คนไปทำงานภาคท่องเที่ยวกันหมด ได้เงินดีกว่า เหนื่อยน้อยกว่า ส่วนจังหวัดที่ไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ไม่มีสวนไหนใช้ลิง
ข้อมูลของ NGO เป็นการเอาสิ่งที่คน 5% ทำ แล้วเอามากล่าวหาว่า 100% ทั้งประเทศทำแบบนี้ พื้นที่ปลูกมะพร้าวในไทย 777,000 ไร่ ถ้าใช้ลิงกันหมดจะมีลิงเยอะแค่ไหน คิดดูลิงเก็บทีละลูก ลิงเก็บมะพร้าวทีละลูก คนสอยที่ละช่อนะลิงช้ากว่าคน แต่บางพื้นที่มันไม่มีแรงงาน
โดยอย่างน้อยอยากให้คนไทยเข้าใจ อันนี้ความเห็นส่วนตัวจ่า พวกนั้นมันไม่ได้ห่วงลิงไรหรอก ข้ออ้าง เรื่องการค้าเกินดุล มันก็ต้องหาทางสกัดเราแบบนี้แหละ อยู่ที่ว่าเราจะสู้กับข้ออ้างแบบนี้ยังไงเท่านั้น แต่ไม่ไหวตรงที่เอาข้อมูลจากฝรั่งไม่กี่คนที่มาสำรวจสวนมะพร้าวในพื้นที่ท่องเที่ยว ที่เขาเอาลิงเก็บมะพร้าวโชว์ ไปเหมารวมตีขลุมว่าสวนมะพร้าวเจ็ดแสนไร่ทั่วประเทศทำแบบนั้น อันนี้เจตนาชัดเจนเกินไปหน่อย”...
แน่นอน, ประเด็นอยู่ที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล แสดงออกมาในสองโพสต์ ต่างกันราวฟ้ากับดิน และเป็นการกลับลำ หลังจากที่ถูกรุมโจมตี เหมือนอดีตพรรคอนาคตใหม่ และคณะก้าวหน้า ทำมาตลอด โดยไม่รู้ว่าด้วยความบังเอิญ หรืออบรมกันมา
โพสต์แรก ต้องการโจมตีอย่างชัดแจ้งว่า มีการทรมาน บังคับทารุณกรรมสัตว์ แต่โพสต์หลัง กลับแสดงถึงความต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงออกเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการค้ากับคู่ค้าในระดับสากลที่ต้องระวังเรื่องทารุณกรรมสัตว์
ก็ถือว่าพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่ก็ยังถูกตั้งคำถามเรื่องเอาภาพทรมานลิงมาลงอยู่ดี เพราะนอกจากเป็นภาพเก่าที่ไม่ได้อธิบายอะไรแล้ว บางภาพยังเอามาจากสื่ออินโดฯ เพื่อประสงค์จะบอกอะไร ตอกย้ำซ้ำเติมอะไร ในภาวะที่ทุกคนเป็นห่วงวิกฤตซ้ำวิกฤตเช่นนี้?