“เสรีพิศุทธ์” เอาจนได้ สบช่อง ส.ส.รัฐบาลติดภารกิจ ดันเรื่อง ครม.ถวายสัตย์ จน กมธ.ป.ป.ช.เคาะมติส่งเรื่อง ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมาย ส่อวุ่นวายตามมา
วันนี้ (2 ก.ค.) ที่รัฐสภา แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 36 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2563 เวลา 09.00 น.ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธาน กมธ.ป.ป.ช.ทำหน้าที่ประชุม ปรากฏว่า ในระเบียบวาระที่ 4.7 กรณีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ แต่บริหารราชการและเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยมิชอบ โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ประธาน กมธ.ได้ดำเนินการสรุปข้อมูลข้อเท็จจริงจากเอกสารที่ได้รับประกอบการพิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอแนะที่ได้รับ
แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่า สำหรับประเด็นที่ได้พิจารณามีการแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าถวายสัตย์ ได้กล่าวถ้อยคำครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 หรือไม่ โดยที่ประชุม กมธ.ป.ป.ช.เห็นว่า ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 161 โดยขาดถ้อยคำตั้งแต่ “ให้รักษา.............” และเติมคำว่า “ตลอดไป” เข้าไป ซึ่งจากการรวบรวมข้อเท็จจริงกล่าวไม่ถูกครบถ้วน 2. คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/62 วันที่ 11 ก.ย. 62 มีผลผูกพันตามมาตรา 211 หรือไม่ ซึ่งทาง กมธ.ป.ป.ช.เห็นว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนักกฎหมายของรัฐสภา ได้ร่วมกันวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ให้รับคำร้องไว้พิจารณาไว้เท่านั้น และมิได้พิจารณาว่าได้ถวายสัตย์ครบถ้วนถูกต้องตามมาตรา 161 หรือไม่ ซึ่งการจะมีผลผูกพันต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การจะมีผลผูกพัน ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยไว้เท่านั้น ดังนั้น คำสั่งและการวินิจฉัยจึงแตกต่างกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้
แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวต่อว่า ภายหลังการพิจารณาท้ายที่สุดที่ประชุม กมธ.ป.ป.ช.เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำการะเว้น ตามมาตรา 157 ดังนั้น กมธ.ป.ป.ช.จึงมีมติเห็นชอบส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการไต่สวนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ตามมาตรา 157 และการไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปี 2560 เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
“ในการประชุม กมธ.ป.ป.ช.ในวันดังกล่าว ปรากฏว่ายังเป็นช่วงเวลาที่กรรมาธิการคนอื่นๆ ติดภารกิจอยู่และกรรมาธิการในสัดส่วน ส.ส.พรรครัฐบาลไม่รู้เรื่อง โดยในที่ประชุมมีกรรมาธิการอยู่จำนวน 8 คน เป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรครัฐบาลอยู่ 3 คน และได้งดออกเสียงในการลงคะแนน ตรงนี้อาจมีปัญหาตามมาอีกหลายเรื่องอย่างแน่นอน” แหล่งข่าวระบุ