นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กฯ นำ 84 องค์กรภาคีเครือข่ายฯ บุกสภา ร้อง กมธ.สื่อสาร ดัน กม.คุมเกมออนไลน์ คุ้มครองเด็ก-เยาวชน หวั่นสร้างพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
วันนี้ (25 มิ.ย.) นางธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน หนึ่งในเครือข่ายความร่วมมือเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ 84 องค์กรทั่วประเทศ ยื่นหนังสือถึง น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะ กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงจากการใช้สื่อออนไลน์เพื่อเล่นเกม
นางธีรารัตน์ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันเด็กและเยาวชนจำนวนมากใช้เวลาเกินควรกับสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะการเล่นเกม จนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ส่งผลกระทบด้านลบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา และก่อให้เกิดปัญหาสังคม จึงขอเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. สนับสนุนและร่วมผลักดันให้มีกฎหมายการกำกับดูแลเกม และการประกอบกิจการเกม เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน 2. ผลักดันให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเกม และผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเกมและอีสปอร์ต ที่ต้องคำนึงถึงการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนตามกติกาสากลเป็นสำคัญ 3. ผลักดันให้ทุกภาคส่วน ร่วมส่งเสริม สนับสนุนให้มีแผนปฏิบัติการการแสดงความรับผิดชอบเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อเด็กและเยาวชน 4. ผลักดันให้รัฐบาลกำหนดให้การเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติ และตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน เป็นองค์กรขับเคลื่อน
5. สนับสนุนและผลักดันให้กลไกในทุกระดับมีการสร้างความตระหนักสาธารณะ โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดเวทีสาธารณะ และจัดกิจกรรมส่งสริมศักยภาพแก่เด็กและบุคคลแวดล้อมรอบตัวเด็กเพื่อให้รู้เท่าทันสื่อ และภัยออนไลน์อย่างทั่วถึง ทุกภูมิภาค 6. ผลักดันให้ภาครัฐ จัดพื้นที่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหลากหลาย จริงจัง และเป็นรูปธรรม ด้วยการสนับสนุนงบประมาณโดยตรงจากภาครัฐ 7. สนับสนุนและผลักดันให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรภาคฐ จัดสรรพื้นที่สร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนจะได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทำ ในกิจกรรมหรือโครงการที่เหมาะสมกับช่วงวัยและความสนใจ และ 8. ผลักดัน และส่งเสริมให้สื่อทุกแขนง และองค์กรวิชาชีพสื่อ มีการสื่อสารสาธารณะผ่านสื่อ โดยเพิ่มเนื้อหาเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาในการใช้สื่อออนไลน์ และร่วมกันเสนอแนะข้อมูลความรู้ ที่ถูกต้อง ในการรับมือกับภัยออนไลน์ นอกเหนือจากการทำหน้าที่สื่อเพื่อรายงานเหตุการณ์เท่านั้น
ทั้งนี้ น.ส.กัลยา กล่าวว่า คณะ กมธ. ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าวเช่นเดียวกัน เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต และจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวเข้าสู่ กมธ. เพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อไป