ก.เกษตรฯ รับรายงานเหตุนมโรงเรียนบูดพื้นที่ จ.แพร่ พบมดเจาะกล่องนมรวม 17 ลัง จาก 107 ลัง สอบรอบจัดซื้อพบเป็นนมยูเอชทีเก่าเทอม 2/62 ที่ต้องแจกช่วงปิดเทอม แต่กลับมาแจกเด็กปี 63 สั่งปศุสัตว์แพร่ประสานศึกษาธิการเชียงใหม่ตรวจสถานที่จัดเก็บ-ตัวอย่างนมส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ ด้าน รมว.กษ.เผยโควตาผู้ประกอบการใหม่ 72 ราย ประสานมหาดไทยส่งนมช่วงโควิด ตามปริมาณน้ำนมดิบกว่า 1.5 พันตันต่อวัน
วันนี้ (2 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระบุว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแพร่ที่เร่งตรวจสอบข้อร้องเรียนกรณีพบว่านมโรงเรียนที่โรงเรียนแม่ยางเปี้ยว ตำบลแม่ยางฮ่อ อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ แจกเด็กนักเรียนบูดเสีย พบว่านมชนิดยูเอชทีที่โรงเรียนมี 107 ลัง เสียหาย 17 ลัง สาเหตุหลักเนื่องจากถูกมดเจาะ
ขณะที่การตรวจสอบรอบการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่าเป็นนมโรงเรียนของปีการศึกษา 2/2562 ซึ่งทางโรงเรียนจะต้องแจกนักเรียนไปดื่มที่บ้านตั้งแต่ปิดภาคเรียนปี 2562 แต่กลับไม่ให้เด็กไปเก็บไว้ที่โรงเรียน แล้วนำมาแจกปีการศึกษา 2563 ซึ่งกำลังตรวจสอบสถานที่จัดเก็บว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งเก็บตัวอย่างนมส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ
ล่าสุด คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการนมโรงเรียนกลุ่ม 4 ได้มอบหมายให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า เหตุใดทางโรงเรียนจึงไม่ได้แจกนมปีการศึกษา 2562 ไปดื่มที่บ้านสำหรับช่วงปิดภาคเรียน รวมทั้งทำไมจึงนำนมจากปีการศึกษาที่แล้วมาแจกเด็กปีการศึกษา 2563
“คณะอนุกรรมการฯ ระดับพื้นที่ กำลังตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียด คาดว่าจะสามารถสรุปผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยเร็ว จากการตรวจสอบมาตรฐานการผลิตที่โรงงานของบริษัท โกลมิลค์ จำกัด ตั้งอยู่ที่อำเภอสารภี ซึ่งทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับ อบต.แม่ยางฮ่อ จังหวัดแพร่ โดยส่งนมให้โรงเรียนแม่ยางเปี้ยว โดยทางบริษัทฯ แจ้งว่าจะเปลี่ยนนมให้ทั้งหมด 107 ลัง”
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนประจำปีการศึกษา 2563 ซึ่งมอบหมายให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนระดับกลุ่มพื้นที่ 5 กลุ่ม จัดสรรสิทธิ์และพื้นที่การจำหน่ายนมโรงเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 72 ราย ปริมาณน้ำนมดิบกว่า 1.5 พันตันต่อวัน หลังจาก ครม.มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานโครงการ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะต้องให้นักเรียนได้ดื่มนม 260 วันต่อปีการศึกษา
ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการคาดว่าจะเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 วันที่ 1 ก.ค.ทางคณะอนุกรรมการฯ จึงให้นักเรียนบริโภคนมชนิดยูเอชทีตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 หากต้องเปิดภาคเรียนหลังวันที่ 1 กรกฎาคม หรือกรณีจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือสลับวันมาเรียนจะให้นักเรียนดื่มนมชนิดยูเอชที จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ แจ้งแนวทางดังกล่าวแก่หน่วยจัดซื้อนมโรงเรียน ได้แก่ กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น(สถ.) กระทรวมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมต้องจัดส่งนมโรงเรียนตามสัญญาที่ทำกับหน่วยจัดซื้อ หรือโรงเรียน
จากนั้นหน่วยจัดซื้อหรือโรงเรียนต้องจัดเจ้าหน้าที่แจกจ่ายนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนโดยตรง หรือนัดหมายกับผู้ปกครองนักเรียนให้มารับนมโรงเรียนในวันและเวลาที่กำหนด หรือแนวทางอื่นใดที่เหมาะสมสอดคล้องตามสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ โดยบางโรงเรียนจัดครูไปเยี่ยมนักเรียนที่บ้าน แล้วนำนมโรงเรียนไปส่งมอบให้ด้วย รวมทั้งยืนยันว่าเด็กนักเรียนทุกคนจะดื่มนมโรงเรียนในวันแรกของการเปิดภาคเรียนแน่นอน