xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบแก้กฎหมาย ปปง.ให้ผู้เสียหายทุกคดีมีสิทธิขอรับเงินสินไหมทดแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาล แถลง ครม.เห็นชอบหลักการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ปปง. ให้ความเป็นธรรมผู้เสียหายทุกคดีมีสิทธิขอรับเงินสินไหมทดแทน

วันนี้ (12 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2563 ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอคืนหรือชดใช้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหาย เพื่อให้ครอบคลุมทุกความผิดมูลฐาน รวมถึงความผิดมูลฐานค้ามนุษย์หรือการบังคับใช้แรงงานหรือบริการที่เกิดจากการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จากเดิมที่คุ้มครองเฉพาะความเสียหายทางทรัพย์สิน เพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

น.ส.รัชดากล่าวต่อว่า โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้รับผลประโยชน์หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตน ก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน และกำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน ถ้าผู้ร้องขอมิใช่เจ้าของที่แท้จริงหรือมิใช่ผู้รับโอนโดยสุจริต รวมถึงกำหนดให้กรณีที่ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหายไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ มีการนำไปรวมกับทรัพย์สินอื่น มีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือติดตามเอาคืนได้ยากเกินสมควร ศาลอาจกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินนั้น โดยคำนึงถึงราคาท้องตลาดในวันที่มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน รวมถึงกำหนดให้กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทน ถ้ามีทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มอีก ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

น.ส.รัชดากล่าวเพิ่มอีกว่า บทบัญญัติที่เพิ่มเติมในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการช่วยเหลือเยียวยาเหยื่ออาชญากรรม เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค กรมบังคับคดี ฯลฯ ให้ขับเคลื่อนภารกิจตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม ส่งผลให้เกิดความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น