5 ส.ส.ใต้จาก 4 พรรค พร้อมใจยื่นหนังสือ “ประยุทธ์” ช่วยคนไทยตกค้างต่างประเทศ หลังพบมีขบวนการหักหัวคิวทำเอกสารปลอม ทำคนไทยใช้ช่องทางธรรมชาติผ่านเข้า ขอเปิดช่องคนไม่ประสงค์กลับรับเงินเยียวยา 5 พันได้เช่นกัน
วันนี้ (5 พ.ค.) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) ตัวแทนศูนย์ประสานงาน ส.ส.ภาคใต้ จำนวน 5 คน นำโดยนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีพรรคภูมิใจไทย และนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผ่านนายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชน รวมทั้งได้หารือกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ เรื่องคนไทยจำนวนมากที่ยังตกค้างอยู่ในต่างประเทศ
โดยนายอันวาร์กล่าวว่า กรณีที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยนั้น มีข้อร้องเรียนว่าการลงทะเบียนออนไลน์ขอรับหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทย สถานทูต หรือสถานกงสุลออกให้ มีปัญหา เช่นหลายคนไม่สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ ขณะเดียวกันยังมีขบวนการหักหัวคิว ทำเอกสารปลอม แม้ทางสถานทูตและกงสุลรวมทั้งอาสาสมัครคนไทยในมาเลเซีย องค์กรเอกชนได้พยายามสื่อสารและช่วยกันในกรณีนี้ แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ จำนวนชาวไทยที่ได้รับอนุญาตให้ผ่านด่านไทย-มาเลเซีย มีเพียง 350 คนต่อวัน จาก 5 ด่าน จนทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องเดินทางเข้าช่องทางธรรมชาติ ซึ่งตามข้อมูลที่ได้รับพบว่าในระหว่าง 18 เม.ย. - 4 พ.ค.ที่ผ่านมา มีคนไทยเดินทางผ่านเข้ามาทางอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส รวม 3,008 คน มีผู้เข้ามาแบบถูกกฎหมาย 1,043 คน ผ่านช่องทางธรรมชาติผิดกฎหมายมากถึง 1,965 คน ทำให้ต้องเสียค่าปรับตามกฎหมาย และยังมีรายงานว่าคนไทยที่เดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่นายหน้า
โดยนายอันวาร์กล่าวต่อว่า ขณะที่การคัดกรองและจัดส่งถึงศูนย์กักตัว Local quarantines ซึ่งการออกหนังสือรับรองสุขภาพ เพื่อใช้ประกอบในการขอเดินทางกลับนั้นพบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงขอให้พิจารณาเพื่อผ่อนผันเงื่อนไขการเดินทางผ่านแดนไม่ต้องมีหนังสือรับรองสุขภาพ ด้วยเหตุผลในการเดินทางเข้าประเทศของคนไทยดังกล่าวเป็นการเดินทางโดยทางพาหนะรถยนต์ หรือเดินเท้า ไม่ได้เดินทางเข้าประเทศโดยสายการบิน และตามมาตรการคัดกรองบุคคลของประเทศไทย เมื่อเดินทางมาจากต่างประเทศในพื้นที่เสี่ยง ทุกคนต้องเข้าสู่มาตรการคัดกรองที่ศูนย์กักตัวสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน ฉะนั้น ศูนย์ประสานงานๆ สามารถจัดให้มีอาสาสมัครแพทย์ เพื่อทำหน้าที่ตรวจร่างกายคนไทยทุกคนที่บริเวณด่านชายแดนที่จะเดินทางเข้าประเทศได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย ขอให้รัฐบาลเปิดช่องทางให้คนไทยเหล่านั้นสามารถลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ของรัฐบาล เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากทางราชการเดือนละ 5,000 บาท เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่อยู่ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไทยที่อยู่ระหว่างการทยอยกลับตามความต้องการ หรืออยู่ระหว่างรอการรับความช่วยเหลือ ขอให้รัฐบาลจัดสรรปัจจัยยังชีพให้แก่ทุกคน เนื่องจากได้รับร้องเรียนว่ามีคนไทยอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนแจ้งชื่อต่อสถานทูต หรือกงสุล เหตุเพราะอุปสรรคจากการเดินทาง หรือไม่ทราบวิธีการปฏิบัติ จึงขอให้ฝ่ายราชการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่แต่ละรัฐเพื่อรับการลงทะเบียนจากคนไทยกลุ่มดังกล่าว และจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอสำหรับจัดหาปัจจัยยังชีพแก่ทุกคน