“หมอธีระ” หลอน คนแห่กลับบ้าน เตือนระวัง “พฤษภา..อันตราย” ขณะ “สุวินัย” ยก “ฮอกไกโด” เป็นตัวอย่าง ที่คลายล็อกดาวน์เร็วเกินไป ทำให้ตัวเลขผู้ติดโควิด-19 พุ่งสูง ด้านนักวิชาการจุฬาฯ ชี้ ไทยพ้นวิกฤตแล้ว แต่ระวังรอบสอง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (2 พ.ค. 63) เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat อยู่กับ Keen Woratanarat และ Patarawan Woratanarat ของ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความให้ระวังการไปนั่งรับประทานอาหาร โดยสาระสำคัญระบุว่า
“หากไปนั่งทาน ต้องยอมรับความเสี่ยงนะครับ
หนึ่ง ร้านส่วนใหญ่โอกาสที่จะมีอากาศถ่ายเทได้ดีมีน้อยมาก ยกเว้นนั่งกลางแจ้ง
สอง นั่งในร้าน คนนั่งกินยังไงก็ไม่ใส่หน้ากาก
สาม การสนทนาระหว่างคนในโต๊ะ และกับคนมาบริการ ย่อมมีความเสี่ยง ยกเว้นจะสั่งออนไลน์ ไม่คุยกัน
สี่ โต๊ะ เก้าอี้ ช้อนส้อม แก้วน้ำ ตะเกียบ ล้วนไม่ใช่ของใช้แล้วทิ้ง หากทำความสะอาดไม่ดีมีความเสี่ยง
ห้า ห้องสุขา หากทำความสะอาดไม่ดี ไม่สม่ำเสมอ มีความเสี่ยง เพราะอุจจาระและปัสสาวะสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัส ส่วนปัสสาวะนั้น เพิ่งมีงานวิจัยที่ตรวจพบตัวเชื้อไวรัส และพิสูจน์ให้เห็นว่าไวรัสจากปัสสาวะนั้น สามารถติดเชื้อสู่เซลล์ได้ ดังนั้น เข้าห้องสุขาก็ต้องใส่หน้ากากเสมอ และล้างมืออย่างเคร่งครัด
ส่วนตัวแล้ว ถึงเปิดให้ไปนั่งทานตั้งแต่พรุ่งนี้ ผมยังไม่กล้าที่จะไปครับ...”
ที่สำคัญ วานนี้ รศ.นพ.ธีระ โพสต์ เตือนเอาไว้ด้วยว่า
“อย่าเป็นแบบเค้าเลยนะครับ...
เมืองไทยในอีก 2-4 สัปดาห์ข้างหน้า
เห็นข่าวคนเดินทางกันตรึม ฉลองหยุดยาววันแรงงาน...ลุ้นแทนทุกคน
คนใน กทม.และเทศบาลเมืองต่างๆ...ช่วยกันอยู่นิ่งๆ นะครับ
ฟันธงแทนหมอลักษณ์เลยว่า...“พฤษภาอันตราย”...ครับ”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เฟซบุ๊กชื่อ Suvinai Pornavalai ของ นายสุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“จังหวัดฮอกไกโด ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น กำลังพบการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง โดยคาดว่าสืบเนื่องจากที่รัฐบาลท้องถิ่นคลายมาตรการล็อกดาวน์ เร็วเกินไป
โดยทางการท้องถิ่นฮอกไกโดได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยการให้ภาคธุรกิจ และโรงเรียนกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง หลังจากยอดผู้ติดเชื้อรายวันเหลือเลขหลักเดียว
จนเมื่อกระทั่งวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ฮอกไกโดตั้งประกาศปิดเมืองอีกครั้ง จาก 26 วัน ให้หลังจากที่ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
ฮอกไกโดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในสัปดาห์เดียวเพิ่มขึ้น 135 ราย โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีตัวเลขผู้ป่วยใหม่เพิ่มสูงถึง 38 ราย มากสุดในรอบหลายสัปดาห์หลังจากคลายล็อกดาวน์ ส่งผลให้เกาะฮอกไกโด ซึ่งมีประชากรทั้งหมดราว 5.3 ล้านราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 767 ราย เสียชีวิตแล้ว 27 คน
โดย นายแพทย์ Kiyoshi Nagase ประธานสมาคมแพทย์ฮอกไกโด ได้เผยกับสื่อว่า รัฐบาลท้องถิ่นผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เร็วเกินไป โดยมาตรการเหล่านี้ควรใช้ไปจนถึง อย่างน้อยปีหน้า จึงสามารถคลายล็อกดาวน์ลงได้
สอดคล้องกับ Yoko Tsukamoto ศาสตราจารย์ด้านการควบคุมการติดเชื้อจากมหาวิทยาลัย Health Sciences University of Hokkaido กล่าวว่า เข้าใจถึงความต้องการคลายล็อกดาวน์ของภาครัฐ เพื่อลดผลกระทบด้านต่างๆ แต่ในเวลานี้้ยังถือว่าเร็วเกินไป เพราะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ และยังขาดความเข้าใจอีกมากเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ คาดว่า ปัจจัยที่ทำให้ฮอกไกโดกลับมาพบการระบาดรอบสอง เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นประเมินเฉพาะปัจจัยจากผู้อพยพเข้าเมือง จะทำให้ไวรัสระบาดบนเกาะหรือไม่ แต่ไม่ได้คำนึงถึงการอพยพโยกย้ายของพลเมืองบนเกาะด้วยกันเอง”
กลับมาที่ไทย สถานการณ์ก่อนที่จะมีการผ่อนปรนด้านการประกอบธุรกิจบางประเภท และพบผู้ติดเชื้อลดลงเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน เฟซบุ๊ก Thumnoon Nhujak ของ รศ.ดร.ธรรมนูญ หนูจักร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เอาไว้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน ว่า
“ไทยพ้นวิกฤตผู้ป่วยใหม่สะสมเจ็ดวันได้แล้วในวันที่ 2 พ.ค. : ตัวเลขต้องจดจำ 2, 9, 29, 11(0)
*วันที่ 2 พ.ค. 63 ไทยมีผู้ป่วยใหม่รายวัน 6 ราย ซึ่งน้อยกว่าสิบรายหกวันติดกัน ทำให้ผู้ป่วยใหม่สะสมเจ็ดวันเป็น 59 ราย (15, 9, 7, 9, 7, 6 และ 6) จึงถือว่าประเทศไทยสามารถพ้นวิกฤตผู้ป่วยใหม่สะสมเจ็ดวันของโรคโควิด-19 ได้ นับเป็นลำดับที่ 9 ของประเทศและเขตปกครองพิเศษ (ที่มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมดเกินพันคน) ใช้เวลาต่อสู้บนถนนวิกฤตโควิด-19 ทั้งสิ้น 29 วัน นับตั้งแต่วันวิกฤตสุดถึงวันพ้นวิกฤต และ 110 วัน นับจากวันแรกที่พบผู้ติดเชื้อถึงวันพ้นวิกฤต
*วันวิกฤตของไทยเมื่อ 3 เม.ย. 63 มีผู้ป่วยใหม่สะสมช่วงเจ็ดวันมากที่สุด 842 รายต่อเจ็ดวัน และลดลงเรื่อยๆ เป็น 106 รายในวันที่ 1 พ.ค. 63 และล่าสุดวันที่ 2 พ.ค. 63 เป็น 59 ราย จึงเป็นวันแรกลดลงเกิน 10 เท่าจากจุดวิกฤต จึงถือว่าไทยพ้นวิกฤตแล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 63
*ณ วันพ้นวิกฤตของไทยและประเทศหรือเขตปกครองพิเศษ (ประเทศฯ) ที่พ้นวิกฤตแล้ว ไทยมีภาระที่ดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่เพียง 6% ซึ่งดีกว่าประเทศฯ อื่นๆ ที่พ้นวิกฤต และอัตราการรักษาหายสูงถึง 98% (รักษาให้ผู้ป่วยหายดี 98 ราย ต่อผู้เสียชีวิต 2 ราย) ซึ่งเทียบเท่าและดีกว่าประเทศฯ อื่นที่พ้นวิกฤต รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่พ้นวิกฤตขณะนี้
*วันที่ 28 เม.ย. 63 ไทยพ้นวิกฤต โดยอนุโลมไม่นับผู้ป่วยต่างชาติ 42 ราย ที่ด่านกักขัง หากนับรวมจึงเป็นวันที่ 2 พ.ค. และรหัสพ้นวิกฤตของไทยสำหรับ COVID-19 beating route คือ TH3/2-3 หมายถึง ไทยเข้าสู่ถนนวิกฤตโควิด-19 ถึงจุดวิกฤตที่ผู้ป่วยสะสมทั้งหมดประมาณสองพันคน และพ้นวิกฤตที่ผู้ป่วยสะสมทั้งหมดประมาณสามพันคน และเลขที่ควรจดจำ คือ 2, 9, 29, 11(0) หมายถึง วันที่ 2 พ.ค., ลำดับที่ 9, 29 วัน, และ 110 วัน
* ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจคลาดเคลื่อนได้ มีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการและผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัย แต่ถือว่าไทยพ้นวิกฤตตามตัวเลขที่รายงาน
*ด้วยความร่วมมือของชาวไทยทุกคน ทำให้เราพ้นวิกฤตดังกล่าวซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก อย่างไรก็ตาม การกลับเข้าวังวนของการระบาดระลอกที่สองก็เป็นไปได้ง่ายเช่นกัน https://www.facebook.com/100009767234843/posts/1129730957362468/
ไทยเราจะไม่มีการระบาดระลอกสองหากผู้ป่วยใหม่สะสมช่วงเจ็ดวันใดต่อนี้ไป ไม่เกิน 84 รายหรือเฉลี่ยไม่เกินวันละ 12 ราย อย่างไรตาม ทางการแพทย์อาจกำหนดตัวเลขที่ต่ำกว่านี้เป็นช่วงเวลาหนึ่งเพื่อมั่นใจว่าจะไม่กลับมาระบาดอีก
*หลักการกำหนดจุดวิกฤตและจุดพ้นวิกฤต ตามที่โพสต์ไว้ https://www.facebook.com/100009767234843/posts/1119758488359715/
* 8 ประเทศหรือเขตปกครองพิเศษที่พ้นวิกฤตแล้ว (นับเฉพาะที่มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมดมากกว่าพันคน) ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ออสเตรีย ไอซ์แลนด์ และ ลักเซมเบิร์ก โดยยังไม่มีช่วงเจ็ดวันใดๆ ของประเทศใดที่มีผู้ป่วยสะสมเจ็ดวันมากกว่าจุดพ้นวิกฤตที่เป็นค่าเป้าหมายของแต่ละประเทศตนเอง”
นั่นแสดงว่า ประเทศไทย ยังอยู่บนหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างจุดพ้นวิกฤต กับ วังวนที่จะกลับมาใหม่รอบที่สอง หากไม่ระมัดระวัง ตามมาตรการที่ผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุขวางไว้ ซึ่งหาไม่แล้ว ก็ไม่แน่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร
ดังนั้น การผ่อนปรนบางเรื่อง ที่สุ่มเสี่ยงอยู่ไม่น้อย และวัฒนธรรมไทยที่เอื้อให้คนไทยออกนอกกรอบมาตรการป้องกัน จึงนับว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เอาแค่ภาพผู้คนแห่กลับภูมิลำเนาช่วงวันหยุดยาว ก็ทำเอาหลอนแล้ว ว่า จะเอาอยู่หรือไม่ ไม่นับการพบปะสังสรรค์ ที่มาพร้อมกับการปลดล็อกซื้อขายเหล้า ที่ได้แต่ภาวนาว่า ทุกคนจะมีสำนึกรับผิดชอบต่อตัวเอง และสังคม เพื่อให้ปลอดโรค ปลอดภัยเท่านั้นเอง